พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ : ตอนที่ ๓ :
วันนี้ในอดีต ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐
วันสิ้นพระชนม์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล เป็นพระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับหม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุนนาค) และเป็นพระชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ จึงถือได้ว่าพระองค์ ทรงเป็นพระสุณิสาในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราช ปดิวรัดา
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ประสูติเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ มีพระโสทรเชษฐา ๒ พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริวงษ์วัฒนเดช
เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล มีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ และได้รับการยกย่องจากรัชกาลที่ ๕ ในฐานะสะใภ้หลวง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเล่าถึงงานอภิเษกสมรสนี้ ความว่า
“...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าคุณจอมมารดาแพ [เจ้าคุณพระประยูรวงศ์] พาพระบุตรีของพระองค์ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคลไปพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ เป็นนางห้ามสะใภ้หลวงตามธรรมเนียมพิธีอย่างใหม่ที่ใช้กันไม่มีการซู่ซ่าอันใด เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐...”
ทั้งนี้สมเด็จชายและพระองค์หญิงทรงครองชีวิตคู่ โดยมีพระโอรสด้วยกัน ๓ พระองค์ ได้แก่
๑. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
๒. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร
๓. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
พระองค์หญิงทรงสนพระทัยในงานด้านศิลปะ การแสดง และทรงริเริ่มในการฝึกละครข้าหลวงตั้งเป็นคณะนาฏดุริยศิลปินจัดแสดงภายในวัง เมื่อตามเสด็จพระสวามีไปประทับยังมณฑลปักษ์ใต้ก็ทรงจัดตั้งวงดนตรี มีข้าหลวงเป็นนักดนตรีประจำคณะ ส่วนพระองค์ทรงซอด้วง
ภายหลังพระสวามีสิ้นพระชนม์ เสด็จพระองค์หญิงฯ ทรงย้ายมาประทับที่วังมังคละสถาน ริมถนนสุขุมวิท ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เสด็จพระองค์หญิงฯ ทรงสนพระทัยในนาฏยศิลป์และดุริยางค์ของไทย และโปรดจัดการแสดงต่าง ๆ ขึ้นตลอดพระชนม์ชีพ ทรงจัดการแสดงครั้งแรก ณ วังมังคละสถานเป็นโขนเฉลิมวันประสูติในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ต่อมาทรงตั้งคณะชูนาฏดุริยางค์ศิลป์ขึ้น เพื่อแสดงเป็นประจำในวังโดยอาศัยสถานที่ต่าง ๆ ในวังเป็นฉาก และจัดการแสดงตามที่ต่าง ๆ ในโอกาสสำคัญ เช่น งานฉลองเปิดหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากการแสดงตามแบบแผนเดิมของไทยแล้วเสด็จพระองค์หญิงฯ ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ในเรื่องเครื่องแต่งกายและฉาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงคิดแบบละครขึ้นใหม่ชนิดหนึ่งเรียกว่า ละครพูดสลับรำ ละครของพระองค์มีคนดูจำนวนมา และมีทุกระดับชั้น
.
ต่อมาทรงหันมาสนพระทัยด้านศิลปะรำไทย ทรงตั้งคณะชูนาฏดุริยศิลป ทั้งนี้ทรงมีความสามารถในการเขียนบทละคร ทั้งละครรำและละครพันทางซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น บทละครดังกล่าวได้แก่ ปันหยีมิสาหรัง และบทละครจากนวนิยายเรื่อง รุ่งฟ้าดอยสิงห์ เป็นต้น
คณะชูนาฏดุริยางค์ศิลป์แสดงอยู่ ๑๕ ปี มีการแสดงอยู่ ๔ ประเภท คือ โขนละครต่าง ๆ รำเบ็ดเตล็ด และการแสดงเบ็ดเตล็ดมีผู้แสดงทั้งผู้มีบรรดาศักดิ์และสามัญชนนักแสดงหลายคนเริ่มอาชีพที่นี่ และหลายคนได้รับอิทธิพลจากที่นี่และมีชื่อเสียงอยู่จนปัจจุบัน ครั้นเสด็จพระองค์หญิงฯ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พระนามชื่อคณะและสิ่งที่พระองค์สร้างเสริมไว้ให้แก่วงการนาฏยศิลป์ไทยก็จางหายไปและถูกลืมเลือน
ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ประชวรและไม่สามารถเสด็จออกงานพระราชพิธีต่าง ๆ ได้ โดยได้ย้ายไปประทับที่วังมังคละ และหมดพระกำลัง สิ้นพระชนม์ลงด้วยโรคพระวักกะพิการ เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สิริพระชันษา ๖๕ ปี
.
ข้อมูล : ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555
.
ธงทอง จันทรางศุ. ในกำแพงแก้ว. กรุงเทพฯ:เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค. 2550