หน้าหลัก > ประกาศ > พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ > พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ : ตอนที่ ๕ : สวนสุนันทา วนอุทยานแห่งสรวงสวรรค์
พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ : ตอนที่ ๕ : สวนสุนันทา วนอุทยานแห่งสรวงสวรรค์

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2021-01-28 12:47:12

พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ : ตอนที่ ๕ :

สวนสุนันทา วนอุทยานแห่งสรวงสวรรค์

          พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องการให้สวนสุนันทาเป็นทั้งสถานที่สำราญพระราชอิริยาบถ และเป็นที่ประทับและพำนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ทรงกำหนดรายละเอียดในการสร้างสวนสุนันทาไว้ทุกขั้นตอน ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ด้วยต้องการให้เป็นอย่างบ้านนอกในวัง อย่างที่เคยได้ทอดพระเนตรมาจากวังของเจ้านายในยุโรป ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการตามพระราชประสงค์ที่พระบรมราชชนกทรงดำริไว้ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง และพระยาประชากรวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) เป็นผู้ควบคุมงาน มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๒๒ ไร่ ตกแต่งเป็นโขดเขาคูคลอง มีสวนพฤกษชาติและตำหนักเรียงรายทั่วไป ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ ทั้งสิ้น รวม ๓๒ ตำหนัก ด้านหน้าประตูทางเข้าตั้งอยู่ริมถนนใบพร (ถนนอู่ทองนอก) ซึ่งเป็นประตูเชื่อมระหว่างพระราชวังดุสิตกับสวนสุนันทา มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้


ทิศเหนือ จดถนนซางฮี้ (ถนนราชวิถี)

ทิศใต้ จดถนนใบพร (ถนนอู่ทองนอก)

ทิศตะวันออก จดถนนดวงดาว (ถนนนครราชสีมา)

ทิศตะวันตก จดถนนสามเสน


          ทุกตำหนักมีการปลูกไม้ดอกไม้ใบอย่างงดงาม มีรั้วไม้ระแนงหรือรั้วต้นพู่ระหงษ์กั้นพองาม แต่สามารถติดต่อเดินถึงกันและกันได้ มีคลองซึ่งขุดจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาทางเขตด้านข้างของท่าวาสุกรี ผ่านประตูน้ำแนวกำแพงสวนสุนันทาเข้ามาด้านตะวันตก บริเวณสระใหญ่มีการขุดคลองเป็นแนวโค้งไปตามกำแพง จนไปสิ้นสุดที่ถนนดวงดาว (ถนนนครราชสีมา) ตามแนวฝั่งริมคลองทั้งสองฝั่งนี้ เป็นตำหนักที่ประทับของพระราชธิดา และเรือนพำนักของเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๕

          สระสุนันทาเป็นสระกว้างใหญ่ น้ำใสสะอาด ริมฝั่งร่มเย็นมีต้นไม้ใหญ่น้อยเรียงรายอยู่ทั่วไป ดังคุณหญิงกรองทอง สุรัสวดี ได้เขียนไว้ว่า

          “...ข้าพเจ้าว่าสมเป็นสวนสวรรค์สำหรับเหล่าสนมกำนัล มีสุมทุมพุ่มไม้ คลองเกาะ แอ่งน้ำใหญ่น้อย มีต้นไม้นานาชนิด ไม้ดอก ไม้ใบและไม้เถา อย่างที่หาที่อื่นไม่มี เพราะพระมเหสี เจ้าจอมหม่อมห้ามล้วนเสาะแสวงหามาประดับประดา ตอนเช้ามืดดอกไม้หอมรื่นไปทั่ว ทุกฤดูดอกไม้บานสลับกันไปตลอดปี กรรณิการ์หล่นเกลื่อนตามพื้นดิน ยามรุ่งอรุณกลิ่นสายหยุด มณฑาโชยมาตามลม ปลุกให้คนตื่นแต่เช้าด้วยความชื่นบาน วิ่งแข่งกันไปเก็บดอกไม้...” ๑

          นอกจากนี้ ยังมีการกั้นกำแพงออกเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกเป็นที่อยู่ของข้าราชการฝ่ายหน้า ได้แก่ เจ้ากรม ปลัดกรม มหาดเล็ก คนขับรถ และคนงาน ส่วนเขตชั้นใน เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน คุณข้าหลวง และข้าราชบริพาร ที่เป็นหญิงล้วน ซึ่งยังคงระเบียบแบบแผนการแบ่งตำหนักและเรือนต่างๆ ตามอย่างพระราชวังดุสิต



อ้างอิง – ๑ กรองทอง สุรัสวดี “สวนสุนันทาเมื่อแรกเปิด” สุนันทานุสรณ์เนื่องในงานฉลองครบ ๒๕ ปีของวิทยาลัยครูสวนสุนันทา พ.ศ. ๒๕๐๕ (พระนคร : แผนกการพิมพ์ วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ๒๕๐๕), หน้า ๕

.

ภาพดอกไม้ประกอบ : ภาพเขียนสีน้ำที่วาดโดยคุณข้าหลวงในพระวิมาดาเธอฯ