หน้าหลัก > ประกาศ > เกร็ดความรู้ > พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ตอนที่ ๑๙ : ๑๙ พฤษภาคม วันอาภากร
พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ตอนที่ ๑๙ : ๑๙ พฤษภาคม วันอาภากร

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2022-08-18 15:10:18

พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ตอนที่ ๑๙ :

๑๙ พฤษภาคม วันอาภากร

          วันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันอาภากร ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรสองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด (สกุลบุนนาค) ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ ทรงมีพระประสงค์แรงกล้าที่จะฝึกให้ทหารเรือไทยเดินเรือทะเลได้อย่างชาวต่างประเทศ และกองทัพเรือต้องมีขีดความสามารถในทางการรบทางทะเลทัดเทียมนานาประเทศ เนื่องจากอดีตทางราชการไทยต้องว่าจ้างชาวต่างชาติมาเป็นผู้บังคับการเรือโดยตลอด

          ภายหลังจากทรงสำเร็จการศึกษา และเข้ารับราชการทหารเรือแล้ว พระองค์ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ และริเริ่มการใช้ ระบบการปกครองบังคับบัญชา ตามระเบียบการปกครองในเรือรบ คือแบ่งให้นักเรียนชั้นสูงบังคับบัญชาชั้นรองลงมา

          นอกจากนี้ยังทรงจัดเพิ่ม วิชาสำคัญสำหรับชาวเรือขึ้นเพื่อให้สำเร็จการศึกษา สามารถเดินเรือ ทางไกลในทะเลน้ำลึกได้แก่ การเดินเรือ ดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ อุทกศาสตร์ เรขาคณิต พีชคณิต ฯลฯ

          เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒ พระองค์ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ โดยนำ เรือหลวงพระร่วง จากประเทศอังกฤษ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร นับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยเดินเรือได้ไกลข้ามทวีป ที่สำคัญพระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อ ๒๐ พ.ย. ๒๔๔๙ ทำให้กิจการทหารเรือมั่นคงสืบมา

          และจากที่พระองค์ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ เพื่อสร้างเป็นฐานทัพเรือ เนื่องจากทรงพิจารณาว่า อ่าวสัตหีบเป็นอ่าวขนาดใหญ่น้ำลึกเหมาะแก่การฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโดได้ และเกาะน้อยใหญ่ที่รายล้อมรอบสามารถบังคับคลื่นลมได้ดี อีกทั้งเรือภายนอกเมื่อแล่นผ่านพื้นที่จะไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้

          ด้านการแพทย์ ทรงศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังและใช้เวลาหลังทรงเกษียณเสด็จไปรักษาโรคแก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าเป็นคนไทยหรือคนจีน จนกระทั่งชาวจีนย่านสำเพ็งซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณเรียกพระองค์ท่านว่า "เตี่ย" (พ่อ) ซึ่งต่อมาทหารเรือได้เรียกพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" ขณะที่คนไข้ชาวไทยมักเรียกพระองค์ว่า "หมอพร"

          พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงประชวร และสิ้นพระชนม์ ในขณะที่ประทับอยู่ที่หาดทรายรี ปากน้ำเมืองชุมพร เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ เวลา ๑๑.๔๐ น.

รวีโรจน์ สิงห์ลำพอง : เรียบเรียง

สาลินี บุญสมเคราะห์ : ภาพประกอบ