พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ตอนที่ ๒๕ :
๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๗ วันประสูติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรก และทรงเป็นต้นราชสกุล "กิติยากร" พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาอ่วม ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๗ ในพระบรมมหาราชวัง ในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ เสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ นับเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้เสด็จไปศึกษาต่างประเทศ ประกอบด้วย
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช
ในปี ๒๔๓๗ ทรงเริ่มรับราชการในกรมราชเลขานุการ ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็น กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในปี ๒๔๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรก
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงปรีชาสามารถในด้านการคลังและการเศรษฐกิจ, ทรงพระดำริจัดตั้งคลังออมสินให้ราษฎรได้นำเงินฝากเพื่อให้ปลอดจากโจรภัยและอัคคีภัยและส่งเสริมการออมทรัพย์, ทรงจัดตั้งกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ และจัดการตั้งสหกรณ์, ทรงร่างกฎหมายวางระเบียบวิธีการศุลกากร และทรงแก้ไขปรับปรุงภาษีสรรพากร รวบรวมหน่วยงานจัดเก็บภาษีให้มารวมอยู่ในบังคับบัญชากระทรวงเดียวกัน, ทรงจัดให้สุราและฝิ่นเป็นสิ่งผูกขาดของรัฐบาล เพื่อเตรียมการที่จะบังคับให้การสูบฝิ่นเป็นสิ่งต้องห้ามในเวลาต่อมา
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอภิรัฐมนตรี ที่ปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน และทรงเป็นกรรมการราชบัณฑิตยสถาน
ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถได้เสด็จไปรักษาอาการประชวรพระศออักเสบที่กรุงปารีส ระยะแรกพระอาการดีขึ้น ต่อมากลับกำเริบอีก และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ สิริพระชันษาได้ ๕๘ ปี
ผลงานทางวิชาการอันโดดเด่น
กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงพระปรีชาสามารถในภาษาบาลี ได้ทรงแปลเรื่อง "จันทกุมารชาดก" จากภาษาบาลีเป็นไทยจนทรงได้รับพระราชทานพัดเปรียญธรรม 5 ประโยคจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกรณีพิเศษ ทั้งที่ทรงเป็นฆราวาส ทรงพระนิพนธ์ ปทานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต โดยอาศัยพจนานุกรมบาลีของอาร์.ซี. ชิลเดอรส์ (R.C.Childers) ที่สมาคมบาลีปกรณ์ดำเนินการจัดพิมพ์มาก่อนหน้านี้แล้วเป็นหลัก แต่ต้นฉบับที่ทรงจัดทำไม่เรียบร้อยดีทุกส่วน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ร่วมกับศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ องคมนตรี ตรวจชำระต้นฉบับที่พระองค์ทรงร่างขึ้นแล้วโปรดให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ปทานุกรมดังกล่าวเพื่อเผยแผ่ นับแต่นั้น ปทานุกรมเล่มนี้จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น