วันนี้ในอดีต ๑๙ กรกฎาคม
๒๕๐๑
วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้านภาพรประภา
กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๐๗
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีอำนาจหน้าที่การบังคับบัญชาราชการฝ่ายใน จนในที่สุดทรงดำรงตำแหน่ง "อธิบดีกรมโขลน” ขึ้นอยู่ในสังกัดกระทรวงวัง เรียกกันเป็นสามัญว่า อธิบดีฝ่ายใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี จึงทรงเป็นหญิงไทยพระองค์แรกที่รับราชการอย่างผู้ชายจนได้เป็นอธิบดีและทรงได้รับการขนานพระนามว่า เสด็จอธิบดี ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีบัญชาราชการฝ่ายในสืบมาตลอดรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗
ในรัชกาลที่ ๖ นั้น นอกจากจะทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี บัญชาราชการฝ่ายในแล้ว ในตอนปลายรัชกาลทรงรับหน้าที่เป็นผู้แทนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลในวันฉัตรมงคล ในฐานะพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ อันนับเป็นเกียรติยศสูงสุดอีกประการหนึ่ง
ในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภาได้ทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินในตำแหน่งอธิบดีบัญชาราชการฝ่ายในสืบมาถึง ๓ รัชกาล เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาพระอิสริยศักด์ให้ทรงกรม เป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี
“เสด็จอธิบดี” เคยกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ แต่รัชกาลที่ ๗ ทรงทัดทานไว้ จึงทรงรับราชการเรื่อยมาจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์จึงได้เสด็จลี้ภัยตามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้เป็นพระนัดดา ไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย
ในระหว่างที่ประทับรถไฟ เพื่อจะไปประทับต่อเรือโดยสารที่สิงคโปร์ ทรงดำริว่าที่เมืองบันดุงจะหาหมากเสวยได้ยากลำบาก หากยังจะเสวยหมากอยู่อีกจะเป็นภาระและยุ่งยากนัก ด้วยความเด็ดเดี่ยวในพระทัย จึงทรงโยนเชี่ยนหมากทิ้งตรงชายแดนไทย-มาเลเซีย นับแต่นั้นมา ก็ไม่เสวยหมากอีกเลย แม้เมื่อเหตุการณ์สงบเสด็จกลับมาเมืองไทยและประทับที่วังสวนผักกาดแล้วก็ตาม เมื่อมีพระชันษาสูงขึ้น รัชกาลที่ ๙ ทรงมีรับสั่งให้สร้างตำหนักเล็กอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อเสด็จอธิบดีจะได้ไปประทับใกล้แพทย์ถวายการรักษา และประทับอยู่ที่นั้นตราบจนสิ้นพระชนม์
เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ ๙ในฐานะที่เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่มีพระชนม์มากที่สุด จึงทรงร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีเป็นผู้ลาดพระที่ บนพระแท่นบรรจถรณ์ (ปูที่นอน) ถวายที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระราชมณเฑียร คราวพระราชพิธีนั้นด้วย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี สิ้นพระชนม์เมื่อปี ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ พระชันษา ๙๔ ปี
รวีโรจน์ สิงห์ลำพอง : เรียบเรียง