หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > (วันนี้ในอดีต) ๒๔ กันยายน : วันมหิดล
(วันนี้ในอดีต) ๒๔ กันยายน : วันมหิดล

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2022-12-15 15:47:19


สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช  เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นสมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทยประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า "กรมหลวงสงขลานครินทร์" หรือ "พระราชบิดา" และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า "เจ้าฟ้าทหารเรือ" และ "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้ามหิดล"

พระองค์ทรงเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในพระบรมมหาราชวัง พระองค์มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา ๗ พระองค์ หลังจากประสูติครบ ๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชเดือนตามขัตติยราชประเพณีที่พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี พร้อมทั้งพระราชทานนามสมมติว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช" และได้รับการออกพระนามลำลองว่า ทูลกระหม่อมแดง

เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีมหามงคลโสกันต์ มีการสมโภช ๗ วัน ๗ คืน ตั้งแต่ วันที่ ๒๔ ถึง ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ หลังโสกันต์แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามตามขัตติยราชประเพณีพร้อมทั้งสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ให้ทรงศักดินา ๔๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนด อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม ในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์ มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์

พระองค์ได้รับการถวายพระอักษรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มากที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู) เป็นพระอาจารย์ภาษาไทยคนแรก มีพระสหายสนิท คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ และเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม หลังจากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ยุโรป โดยพระองค์เข้าศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้ย้ายไปศึกษาต่อในวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองพ็อทซ์ดัม ประเทศเยอรมนี และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงทหารบกที่โกรส-ลิชเทอร์เฟ็ลเดอ (Groß-Lichterfelde) เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้น  เป็นผลให้พระองค์ต้องนิวัตกลับประเทศไทย พระองค์เข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือ โดยได้รับพระราชทานยศเป็น "นายเรือโท" และย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกแต่งตำรา กรมยุทธศึกษาทหารเรือในเวลาต่อมา พระองค์ทรงรับราชการในกระทรวงทหารเรือเป็นเวลา ๙ เดือน ๑๘ วัน

เมื่อพระองค์ทรงลาออกจากการรับราชการในกระทรวงทหารเรือแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการและผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ในขณะนั้น พร้อมด้วยหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ได้เสด็จไปชักชวนให้มาช่วยโรงพยาบาลศิริราช โดยพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ได้ทูลเชิญทูลกระหม่อมให้แวะที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อทอดพระเนตรเห็นโรงคนไข้มีสถานที่คับแคบไม่พอที่จะรองรับคนไข้ได้อย่างเพียงพอทำให้คนไข้ต้องไปนั่งรอที่โคนต้นไม้ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์ พระองค์ทรงสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่งและทรงตกลงพระทัยที่จะช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ไทย แต่พระองค์มีพระดำริว่า "ก่อนจะทรงช่วยเหลือจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จึงตั้งพระทัยจะเสด็จไปทรงศึกษาด้านการแพทย์เสียก่อน"

พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จไปศึกษาต่อยังสหรัฐ โดยทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรสาธารณสุขแล้ว พระองค์รับหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์เกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านการศึกษาวิชาแพทย์และวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย  หลังจากนั้น พระองค์ตัดสินพระทัยเข้าศึกษาวิชาแพทย์ต่อในชั้นปีที่ ๓ ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร แต่พระองค์ประชวรด้วยโรคพระวักกะ (โรคไต) ซึ่งสภาพอากาศที่อังกฤษมีอากาศชื้นและหนาวเย็น ไม่เหมาะกับพระโรค ดังนั้น พระองค์จึงต้องเสด็จนิวัตกลับพระนคร โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒  ด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย พระชนมายุได้ ๓๗ ปี

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร_อดุลยเดชวิกรม_พระบรมราชชนก