สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
ประสูติ วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๒๙
สิ้นพระชนม์ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๗๘ สิริพระชันษาได้ ๔๙ ปี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๕๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์ที่ ๔ ในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา เมื่อแรกประสูติมีพระฐานันดรศักดิ์เป็น “พระองค์เจ้า” ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล” และทรงเพิ่มพระเกียรติยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๑
ในรัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ” เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ และต่อมาในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “เจ้าฟ้าต่างกรม” เป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี" ในรัชกาลที่ ๗ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ” และในรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี" เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ พระองค์เป็นพระราชธิดาที่สนิทเสน่หาและโปรดปรานยิ่งนักของสมเด็จพระบรมราชชนก ดังจะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขา จํานวน ๔๓ ฉบับ ทรงมีไปถึงพระองค์เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ล้วนแสดงถึงความรักความห่วงใยของพ่อที่ทรงมีต่อลูกและครอบครัวพระวิมาดาเธอฯ เพียงใด ทรงเล่าเรื่องการเสด็จประพาสตามเมืองต่าง ๆ ทุกวันไม่มีเว้นด้วยความสําราญพระราชหฤทัยยิ่ง ซึ่งต่อมาได้ทรงรวบรวมเป็นพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” และทรงได้รับพระราชทานเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงพระองค์เดียว แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าพระราชหัตถเลขาทั้ง ๔๓ ฉบับดังกล่าวได้สูญหายไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ซึ่งทางทายาทกำลังติดตามอยู่ นอกจากนี้พระองค์ยังได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบรมราชชนกอย่างใกล้ชิดในตำแหน่งราชเลขานุการจนตลอดรัชกาล รวมทั้งทรงเก่งภาษาอังกฤษอีกด้วย
ในราวปีพุทธศักราช ๒๔๖๓ พระองค์ได้ตามเสด็จพระชนนีมาประทับที่สวนสุนันทา ที่ตำหนักใหญ่ เป็นตำหนักแฝดมีเฉลียงทางเดินทั้งชั้นล่างและชั้นบนเชื่อมต่อถึงกัน ในระหว่างนั้นได้ทรงจัดตั้งโรงเรียน “นิภาคาร” ในบริเวณตำหนักที่ประทับเพื่อใช้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของบรรดาข้าหลวงในพระองค์ และหม่อมเจ้าพระญาติ ได้ทรงเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนตราบจนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช ๒๔๗๕ จึงได้เลิกกิจการไป และได้เสด็จฯ ไปประทับอยู่กับครอบครัวราชสกุล “บริพัตร” ของจอมพล สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่เมืองบันดุง เกาะชวา หรือประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ประทับที่ตำหนัก “ดาหาปาตี” ตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ สิริพระชันษาได้ ๔๙ ปี
สำหรับตำหนักเดิมที่เคยประทับในสวนสุนันทานั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิม มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ตำหนักสายสุทธานภดล" หรือ “ตึก ๒๗"
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ ๗๕ ปี สวนสุนันทา