หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > วันนี้ในอดีต ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๕ วันสิ้นพระชนม์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร
วันนี้ในอดีต ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๕ วันสิ้นพระชนม์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2023-05-16 11:42:18



ประสูติ วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๓๔

สิ้นพระชนม์ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๕ สิริพระชันษาได้ ๙๑ ปี

พระคุณสมบัติพิเศษ ทรงเข้าพระทัยในพระธรรมได้อย่างลึกซึ้งถึงขั้นทรงนิพนธ์เป็นบทความ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากรธิดาลำดับที่ ๖๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์ที่ ๔ ในเจ้าจอมมารดาพร้อม ซึ่งเป็นธิดาของพระยาพิศณุโลกาธิบดี (บัว) มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมเจ้าจอมมารดา ๓ พระองค์ คือ 

๑. พระองค์เจ้าหญิงประภาพรรณพิไลย (พ.ศ. ๒๔๒๘ - ๒๔๙๑) 

๒. พระองค์เจ้าหญิงประไพพรรณพิลาศ (พ.ศ. ๒๔๒๘ - ๒๔๒๙) ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นแฝดหญิงคู่แรกในรัชกาลที่ ๕ 

๓. พระองค์เจ้าชายสมัยวุฒิวโรดม (พ.ศ. ๒๔๓๑ - ๒๔๓๒) 

พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ทรงเข้าพิธีโสกัณต์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๔ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศเป็น “พระเจ้าน้องนางเธอฯ” ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ และเป็น “พระเจ้าพี่นางเธอฯ” ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศเป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร” 

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๘

ในขณะทรงพระเยาว์ได้ศึกษาภาษาไทยชั้นต้นกับพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว.หนูอิศรางกูร) และทรงเรียนภาษาอังกฤษกับหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล อยู่หลายปีภายหลังเมื่อท่านหญิงพิจิตรฯ ต้องไปเป็นอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนราชินี พระองค์จึงต้องหยุดการเรียนตั้งแต่พระชันษาได้ ๑๖ ปี แต่ทรงหันมาศึกษาค้นคว้าส่วนพระองค์ตลอดมา ภายหลังเมื่อเจ้าจอมมารดาพร้อมถึงแก่อสัญกรรมในขณะที่พระองค์มีพระชันษาได้ ๗ ขวบ สมเด็จพระบรมราชชนกจึงได้พระราชทานพระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลยและพระองค์เจ้าวาปีบุษบากรให้ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ไปทรงเลี้ยงอุปถัมภ์เสมือนหนึ่งพระราชธิดาเช่นเดียวกับที่ได้ทรงรับพระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิทและพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ไปเลี้ยง เมื่อเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว. เนื่อง (สนิทวงศ์) ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยเหตุนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ จึงทรงสนิทสนมกับพระองค์เจ้าวาปีบุษบากรดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งเสด็จไปศึกษาในยุโรปได้ทรงส่งโปสการ์ดจำนวนนับร้อยฉบับมายังพระองค์เจ้าวาปีฯ และได้เคยจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า" เมื่อหลายปีก่อน

ครั้นต่อมาพระองค์เจ้าวาปีบุษบากรได้ย้ายจากตำหนักที่เคยประทับอยู่กับเจ้าจอมมารดาพร้อมมายังพระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ พร้อมด้วยพระพี่เลี้ยงชื่อปุ้ย และข้าหลวงที่ชื่อวิงโดยอยู่ในความดูแลของเสด็จกรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ์ที่ทรงเคยเลี้ยงดูสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งทรงเรียกว่า “ป้าโสม” และต่อมาพระพี่เลี้ยงปุ้ยได้กราบทูลลาไปแต่งงานกับ ม.ร.ว. จรัส อิศรางกูร สมเด็จฯ จึงโปรดให้คุณปลั่งที่เคยเป็นพระพี่เลี้ยงของพระองค์เจ้ารังสิตฯ มาเป็นพระพี่เลี้ยงแทน สำหรับเสด็จกรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ์เป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๔ และเป็นพระเจ้าพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๕ ทรงแก่กว่าพระพุทธเจ้าหลวง ๑ พรรษา และที่สำคัญเคยเป็นแม่สื่อให้กับพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพบรักกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เมื่อปลายรัชกาลที่ ๔ นอกจากนี้เสด็จกรมหลวงสมรรัตน์ฯ ยังทรงทำหน้าที่เก็บรักษากุญแจพระราชวังหลวงชั้นในจนสิ้นรัชกาลที่ ๕

พระองค์เจ้าวาปีบุษบากรได้เสด็จไปประทับวังสวนดุสิตตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ เป็นต้นมาที่พลับพลาองค์แรก และที่พระตำหนักสวนหงส์ จวบจนกระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่หรือที่เรียกกันว่า “น้ำท่วมปีมะเส็ง" พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลยและพระองค์เจ้าวาปีบุษบากรจึงได้ย้ายไปประทับชั่วคราวที่วังสระปทุมเป็นเวลา ๒ เดือนเมื่อเสด็จกลับมาได้ทรงย้ายที่ประทับจากวังสวนดุสิตไปยังสวนสุนันทาและได้ประทับที่พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ  ตราบจนกระทั่งวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ จึงได้ย้ายเสด็จมาประทับที่วังสระปทุมอยู่ระยะหนึ่งบรรดาเจ้านายฝ่ายในส่วนใหญ่ทรงเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจึงได้ทยอยเสด็จไปประทับข้างนอก บ้างก็ประทับในวังของพระเชษฐา พระอนุชา หรือ พระราชโอรส บ้างก็เสด็จต่างประเทศหรือบางพระองค์ประทับที่ “สวนนอก” ซึ่งเป็นที่ดินอยู่นอกเขตวังสวนดุสิตที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่บรรดาเจ้าจอมที่มีแต่พระเจ้าลูกเธอประทับและพำนัก โดยเฉพาะที่ดินพระราชทานส่วนใหญ่จะอยู่ติดริมคลองสามเสนเพราะว่าสะดวกในการสัญจรทางน้ำ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากรทรงเลือกจะสร้างตำหนักที่สวนนอกนี้ แต่ประทับได้ไม่นานภายหลังได้ทรงสร้างวังใหม่ประทานชื่อว่า “วาริชเวสม์” สร้างแล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๗ เมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ประทับต่อมาจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงได้ทรงอพยพเสด็จประทับที่ศรีราชาจังหวัดชลบุรีเมื่อสงครามโลกยุติลงในปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ ได้เสด็จกลับมาประทับในพระนครที่วังวาริชเวสม์ตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์

ส่วนตำหนักเดิมที่เคยประทับในสวนสุนันทานั้น ซึ่งเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี หรือที่เรียกกันว่า “ตำหนักชุด ๓ พระองค์” นั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิม ใช้เป็นอาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ ๗๕ ปี สวนสุนันทา

ภาพ : นายเมธี คงศรี