ประสูติ วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๒๔
สิ้นพระชนม์ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๙ สิริพระชันษาได้ ๕๕ ปี
พระคุณสมบัติพิเศษ โปรดการทำอาหาร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์ เป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๓๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาเรือน ธิดาของพระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงคราม (สว่าง สุนทรศารทูล) กับคุณหญิงตลับ ศรีเพ็ญ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ขณะทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาภาษาไทยในสำนักของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่โรงเรียนราชกุมารภายในพระบรมมหาราชวัง และทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับ ครูแหม่มจากโรงเรียนสุนันทาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าสอนในวังหลวงดั่งเช่นราชนารีทุกพระองค์ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับพระกรุณาได้รับโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศเป็น “พระเจ้าน้องนางเธอฯ” และในรัชกาลที่ ๗ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศเป็น "พระเจ้าพี่นางเธอฯ” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศ เป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์” เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์ประสูติในปีมะเส็ง ร่วมสหชาติเดียวกับพระราชโอรส - ธิดาในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งประกอบด้วยเจ้านายพี่น้องต่างพระชนนี จำนวน ๔ พระองค์ หรือที่เรียกว่า “สี่มะเส็ง” มีพระนามเรียงตามลำดับพระชันษา ดังนี้
๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ
๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์
๔. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน
พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์พร้อมด้วยเจ้านายทั้ง ๓ พระองค์ ได้ทรงชักชวนร่วมกันบริจาค เงินสร้างตึกถาวรวัตถุหลังหนึ่ง ณ สถานเสาวภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นสาธารณกุศล ได้รับพระราชทานนามว่า "ตึกสสี่มะเส็ง" เหนือตึกด้านบนมีสลักนูนรูปงูเขียวเรียงรายซ้อนกัน ๔ ตัว อันเป็นสัญลักษณ์ของสีมะเส็ง มีพระนามย่อของเจ้านายทั้ง ๔ พระองค์รวมถึงพระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์ประทับบนหลังงู ตึกดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
นอกจากนี้ พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์พร้อมด้วยเจ้านายทั้ง ๓ พระองค์ ยังโปรดให้มีการจัด “งานสี่มะเส็ง” ที่วังบางขุนพรหม เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ ซึ่งเป็นวันคล้ายวัน ประสูติของจอมพลสมเด็จฯ เจ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต นับว่าเป็นงานยิ่งใหญ่ในปีนั้น พระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จฯ มาทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานดังกล่าวและเสวยพระกระยาหารค่ำกับเจ้านาย ๔ มะเส็งพร้อมด้วยพระราชวงศ์อื่นๆ บรรยากาศ ภายในงานคลาคล่ำไปด้วยผู้คน มีการเล่นของนักเรียนที่แสนจะน่ารัก สวมกางเกงเขียวและเป็นเสื้อเขียวแขนยาว สวมหัวงูเกาะเกี่ยวกันยกแขนขึ้นๆ ลงๆ เหมือนงูเลื้อย
ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ เมื่อการก่อสร้างพลับพลาหลังแรกภายในวังสวนดุสิตได้แล้วเสร็จ พระองค์พร้อมด้วยเจ้าจอมมารดาเรือนได้เสด็จไปประทับและทรงพำนักที่นั่นพร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายใน และเจ้าจอมทั้งปวง ตราบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระองค์จึงได้ย้ายเสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวัง และต่อมาเมื่อพระที่นั่งและ ตำหนักต่างๆ ในสวนสุนันทาได้สร้างแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๔๖๒ พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่นั่น
ตัวหนักจะอยู่ทางทิศตะวันตกด้านถนนสามเสน อยู่ช่วงระหว่างตำหนักพระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี กับตำหนักพระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ บริเวณโดยรอบตำหนักจะทรงปลูกต้นไม้หลายชนิดทั้งไม้ใบ ไม้ดอก และไม้ผล ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลด้วยดอกลั่นทม สารภี มะลิ และพุทธชาด เป็นต้น โชยกลิ่นไปทั่วทั้งตำหนักในยามเช้า แต่ทว่าพระองค์ไม่ได้ประทับประจำที่สวนสุนันทา โปรดประทับในพระบรมมหาราชวังมากกว่า จะเสด็จมาประทับเป็นครั้งคราวเมื่อทรงเยี่ยมพระญาติ เจ้านายพี่น้อง นอกจากนี้ พระองค์ยังได้รับพระราชทานที่ดินและตำหนักที่บริเวณสวนนอก ติดคลองสามเสนเป็นที่ประทับพร้อมด้วยเจ้าจอมมารดาเรือนอีกด้วย ที่ดินผืนนี้ต่อมาภายหลังได้ทรงทำพินัยกรรมแบ่งที่ดินประทานแก่ หลานๆ ของเจ้ามารดาเรือนทุกคน และได้อาศัยพักพิงตราบจนถึงปัจจุบัน
สำหรับตำหนักเดิมที่เคยประทับในสวนสุนันทานั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ ให้อยู่ในสภาพเดิม มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ตึกพิศมัยพิมลสัตย์” หรือ “ตึก ๔๔ ตามพระนามขององค์เจ้าของตำหนัก เป็นพระอนุสรณ์รำลึกถึงพระองค์
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ ๗๕ ปี สวนสุนันทา
ภาพ : ดวงพร ตรีภพศรีสกุล
เว็บไซต์สำนักศิลปะและวัฒนธรรม: www.culture.ssru.ac.th
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา: www.ssru.ac.th
#SSRU #OACSSRU