หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > (วันนี้ในอดีต) ๗ มีนาคม ๒๔๙๔ วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
(วันนี้ในอดีต) ๗ มีนาคม ๒๔๙๔ วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2023-03-14 15:34:19


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสองค์ที่ ๕๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ (ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) ประสูติในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๘ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๘ หลังให้ประสูติกาลพระราชโอรสได้ ๑๒ วัน เจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์เนื่องก็ถึงแก่อนิจกรรม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้มพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ มาพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ด้วยพระองค์เองพร้อมกับตรัสว่า “ให้มาเป็นลูกแม่กลาง” สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีทรงรับพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ไว้อุปการะพร้อมทั้งพระเชษฐภคินี คือ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท โดยทรงเลี้ยงดูพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งทรงมีพระชนมายุใกล้เคียงกับเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดชเหมือนกับพระราชโอรสที่ประทานกำเนิดด้วยพระองค์เอง

เสด็จในกรมฯ ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และยังทรงได้รับการอบรมอย่างใกล้ชิดในเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี และความรู้ทั่วไปจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง

พ.ศ.๒๔๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกเดินทางไปยุโรปเพื่อรับการศึกษาที่ประเทศเยอรมัน เสด็จในกรมฯ เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยม เมืองฮัลเบอร์สตัด และทรงเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเมืองไฮเดิลแบร์ก ทรงสนพระทัยที่จะศึกษาวิชาแพทย์มานานแล้ว แต่สมเด็จพระบรมชนกนาถรับสั่งว่า พระพลานามัยไม่สมบูรณ์ วิชาทหารและวิชาแพทย์ไม่เหมาะสม จึงทรงแนะนำให้ศึกษาวิชากฎหมายแทน ซึ่งจะน่ากลับมาช่วยบ้านเมืองได้มากมาย

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ "กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร" ทรงรับราชการเป็น “ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง” กระทรวงธรรมการ และรับหน้าที่เป็น “ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย”

พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนวิชาพยาบาลผดุงครรภ์ ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งในสมัยนั้นยังนิยมใช้การแพทย์แผนโบราณ คลอดบุตรโดยหมอตำแยกันอยู่ ทรงส่งเสริมให้ข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรี สวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เข้าเรียนต่อหลักสูตรของศิริราชพยาบาล สนับสนุนให้ศึกษาวิชาแพทย์และพยาบาลแผนปัจจุบันให้มากขึ้น ทรงปลูกฝังความนิยมในการเรียนแพทย์ให้เป็นที่แพร่หลาย จัดการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้พระองค์ท่านยังเป็นผู้โน้มน้าวสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ให้ทรงสนพระทัยวิชาการแพทย์

พ. ศ. ๒๔๖๐ ทรงได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยในกระทรวงธรรมการ เสด็จในกรมฯ ได้ทรง เพิ่มคณะใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ และให้โรงเรียนราชแพทยาลัยเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแพทย์เพิ่มระยะเวลาการศึกษาเป็น ๖ ปี

พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงจัดตั้งกองนักเรียนแพทย์เสือป่า และทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง

พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก สมัยนั้นคำว่า “สาธารณสุข” ยังเป็นคำใหม่ซึ่งคนไทยไม่เข้าใจ จึงทรงวางรากฐาน ประสัมพันธ์และวางแผนจัดทำโครงการ แบ่งงานสาธารณสุขในพระราชอาณาเขตเป็นสาธารณสุขจังหวัดในปัจจุบัน แม้กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงห่วงใยเรื่องหลักสูตรแพทย์ปรุงยา โดยทรงรับสั่งกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไว้ว่า

“เรื่องการเภสัชกรรมนั้นมีความสำคัญมาก สมควรที่ต้องมีกฎหมายบังคับคุ้มครองขึ้น จัดให้มีการแบ่งแยกหน้าที่ของแพทย์และเภสัชกรตามแบบแผนที่ถูกต้อง ตลอดจนถึงการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานของยาตามแบบยุโรป เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน”

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขทรงริเริ่มงานการศึกษาและฝึกอบรม การควบคุมป้องกันโรค จัดให้มีกองกำกับโรคระบาด กักกันผู้เป็นโรคและต้องสงสัยว่าเป็นโรคเมื่อเดินทางเข้าประเทศ จัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ

นอกจากนี้ ได้ทรงริเริ่มให้มีประราชบัญญัติเกี่ยวกับการสาธารณสุขเป็นครั้งแรก ได้แก่ พระราชบัญญัติการรักษาความสะอาดในเขตสุขาภิบาล พระราชบัญญัติควบคุมอาหารและยา พระราชบัญญัติการแพทย์เพื่อควบคุมและวางระเบียบจรรยาบรรณการประกอบการแพทย์

พ.ศ. ๒๔๖๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทร

พ.ศ. ๒๔๖๘ หลังจากทรงรับราชการมาเป็นเวลา ๑๒ ปี ได้กราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการในวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื่องจากพระอนามัยไม่สมบูรณ์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติได้เฉลิมพระนามเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร และทรงแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๖๘

พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ที่สหรัฐอเมริกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงแต่งตั้งเสด็จในกรมฯ เป็นที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการ

พ.ศ. ๒๔๘๑ สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเกล้าเจ้าทรงมอบหมายให้เสด็จในกรมฯ เป็นพระอภิบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ และสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอฯ เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครเป็นครั้งแรก

๒๐ กันยายน ๒๔๘๗ ได้รับการคืนพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร

๑๖ มิถุนายน ๒๔๘๙ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ร่วมกับพระยามานวราชเสวี เนื่องจากในขณะนั้นยังมิได้ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ

๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ หลังการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดย พลโทผิน ชุณหะวัน ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานอภิรัฐมนตรี (ต่อมาเปลี่ยนเป็นองคมนตรีในรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒) ซึ่งคณะอภิรัฐมนตรีประกอบด้วย

๑. พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

๓. พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์

๔. พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา)

๕. พลเอกอดุล อดุลเดชจรัส

๒๕ มีนาคม ๒๔๙๓ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี พระราชทานยศพลเอกนายทหารพิเศษประจำกองพันที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ๘ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ให้สถาปนาพระยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎ ว่า "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรทร จุฬาลงกรณราชวโรรส สยามสุขบทบุรัสการี เมตตาสีตลหฤทัย อาชชวมัททวัธยาศัยสุจารี วิวิธเมธีวงศาธิราชสนิท นวมนริศรสุมันตนบิดุล ติรณคุณสรณาภิรักษ ประยูรศักดิธรรมิกนาถบพิตร สิงหนาม" ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามอย่างธรรมเนียมพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวง

๔ มิถุนายน ๒๔๙๓ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

๒๘ มกราคม ๒๔๙๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อสิ้นพระชนม์ พระบาทสม เด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมเป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรทร จุฬาลงกรณราชวโรรส สยามสุขบทบุรัสการี เมตตาสีตลหฤทัย อาชชวมัททวัธยาศัยสุจารี วิวิธเมธีวงศาธิราชสนิท นวมนริศรสุมันตนบิดุล ติรณคุณสรณาภิรักษ ประยูรศักดิธรรมิกนาถบพิตร"

หลังจากเกษียณจากราชการแล้ว เสด็จในกรมฯ ทรงดำเนินชีวิตส่วนพระองค์อย่างเรียบง่าย ทรงงานศิลปะ ออกแบบ ตกแต่งภายในจากผลงานศิลปะและโบราณวัตถุที่ทรงสะสมทั้งจากต่างประเทศและภายในประ เทศ อันเป็นที่ชื่นชมกันว่าทรงมี “ตาดี” ในเรื่องงานศิลปะ ที่ทรงสืบทอดมาจาก สมเด็จพระราชบิดา ทรงงานอดิเรกถ่ายภาพและถ่ายภาพยนต์โดยทรงเป็นกรรมการผู้ร่วมก่อตั้ง “สมาคมภาพยนต์สมัครเล่นแห่งสยาม” นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกการพัฒนาที่ดินรุ่นแรกๆ ของสยามอีกด้วย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน ณ วังถนนวิทยุ เมื่อเวลาประมาณ ๑ นาฬิกาของวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ด้วยพระโรคหืดและโรคพระหทัยวาย เป็นราชโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระชนม์ยืนที่สุดด้วยพระชนมายุ ๖๕ ปี ๔ เดือน

แหล่งที่มา – หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยรังสิต