หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > วันนี้ในอดีต - 7 มกราคม พ.ศ. 2408 วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันนี้ในอดีต - 7 มกราคม พ.ศ. 2408 วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2019-06-21 11:09:21

วันนี้ในอดีต - 7 มกราคม พ.ศ. 2408

วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม คลองบางกอกใหญ่ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งในครั้งนั้นเรียกว่าพระบวรราชวังใหม่ เนื่องมาจากในขณะนั้นพระราชบิดายังดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงมีพระเชษฐาร่วมพระราชมารดารวมทั้งสิ้น 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าราชกุมาร, เจ้าฟ้ามงกุฏ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระองค์เป็นเจ้าฟ้าพระองค์น้อย


เมื่อพระองค์ประสูติได้ประมาณ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 ก่อนบรมราชาภิเษกได้ 10 วัน เจ้าฟ้าพระองค์น้อยได้เสด็จตามสมเด็จพระราชบิดามาประทับในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 12 พรรษา จึงได้มีการพระราชพิธีโสกันต์อย่างธรรมเนียมสำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า หลังจากนั้นเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อศึกษาศีลธรรมและพระศาสนา เมื่อพระองค์ลาผนวชทรงได้ศึกษาวิชาตามแบบแผนราชสกุลที่จัดให้เจ้านายเรียน


เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองคใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงเสด็จกลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม พร้อมกับพระราชมารดา ส่วนสมเด็จพระเชษฐาของพระองค์นั้นทรงสมณเพศประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุและวัดสมอราย


พระองค์ทรงเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเสด็จสวรรคต เป็นเหตุให้ข้าไทในเจ้านายต่าง ๆ คาดว่าเจ้านายของตนจะได้รับการสถาปนาที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ทัต บุนนาค) จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถ้าไม่ทรงตั้งกรมพระราชวังฯ แล้ว ขอให้ยกเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่เลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง กรมขุน เพื่อให้ข้าไทเห็นว่าเจ้านายของตัวได้เลื่อนยศเพียงนั้น จะได้หายตื่น ทรงพระราชดำริเห็นด้วย จึงโปรดให้เลื่อนกรมและตั้งกรมเจ้านายรวม 8 พระองค์ด้วยกัน โดยทรงตั้งเจ้าฟ้าพระองค์น้อยเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้รับสุพรรณบัฏในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 24 พรรษา ได้ทรงบังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้าปืนหลัง และญวนอาสารบแขก อาสาจาม


เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้สวรรคต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎตรัสว่าท่านฟากข้างโน้น (หมายถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) มีพระชะตาแรงต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ถวายราชสมบัติแก่ท่านนั้นด้วย เพราะหากพระองค์รับราชสมบัติเพียงพระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดกันบารมีของสมเด็จพระอนุชา ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยก็จะพ้นจากอัปมงคล เจ้าพระยาพระคลังจึงไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิมตามรับสั่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เหล่าขุนนางมาประชุมพร้อมกันแล้วกราบทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงมีพระราชดำริว่าสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ก็ทรงพระปรีชารอบรู้กิจการต่าง ๆ มีผู้ใหญ่ผู้น้อยนิยมนับถือมาก สมควรที่จะพระราชทานยศใหญ่กว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลแต่ก่อน ๆ แต่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศฯ ยังไม่ได้รับพระสุพรรณบัฏตั้งพระนาม ทำให้ไม่มีพระนามเดิม ดูเป็นการต่ำทรามไป จึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏตั้งพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอิศเรศจุฑามณี ชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏในการพระราชพิธีบวรราชาภิเษกในวันที่ 25 พฤษภาคม ว่า "พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศวร์ มหิศเรศรรังสรรค์ มหันตวรเดโช ไชยมโหฬารคุณอดุลยเดช สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนารถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทรสูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทรบวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวรมหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตน ไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทโรดมกิจโกศล สัตปดลเศวตฉัตร สิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชย อุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"


ภายหลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรบ่อยครั้ง จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรคและเสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา และมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2409 ซึ่งได้มีการแห่พระเมรุมาศพระบวรศพเช่นเดียวกับพระศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นหลายประการตามพระยศที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2


https://ssru.ac.th

https://culture.ssru.ac.th

https://www.facebook.com/ArtsandCultureSSRU