วันนี้ในอดีต – 9 มกราคม พ.ศ. 2472
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์
สะพานพระพุทธยอดฟ้า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อปี พ.ศ. 2472 เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ด้วยพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยมีพระราชดำริว่าควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย
โครงการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และสะพานได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งทรงอำนวยการแผนกศิลปกรรม คิดแบบอย่างเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์เสด็จประทับเหนือพระราชบัลลังก์และหล่อด้วยทองสำริด ขนาดสูงตั้งแต่ฐานถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง โดยได้เลือกแบบของบริษัทดอรแมนลอง ประเทศอังกฤษ
สะพานพระพุทธยอดฟ้านี้ นับว่าเป็นสะพานที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ โดยเป็นสะพานสำหรับรถและคนข้าม ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจากสะพานพระราม 6 มีลักษณะสะพานเหมือนลูกศร ปลายศรชี้ไปทางฝั่งธนบุรีสอดคล้องกับพระราชลัญจกรประจำพระองค์ คือ พระแสงศร ตรงกลางโค้งทางลาดฝั่งพระนครเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร และอาจยกตอนกลางขึ้นด้วยแรงไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง 60 เมตรเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 ซึ่งบรรจุสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ไว้
แผ่นหิรัญบัฏจารึกประกาศพระบรมราชโองการสร้างสะพาน
รูปสะพานและแผนผังสะพาน
เหรียญบรมราชาภิเษกและเหรียญราชรุจิในรัชกาลที่ 7
หีบบรรจุสิ่งของ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมเป็นผู้จัดทำ เป็นหีบตะกั่วสี่เหลี่ยมทึบขนาด 20 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว สูง 6 นิ้ว
ค้อนเงินและเกรียงเงิน สำหรับทรงก่อพระฤกษ์
อิฐปิดทอง เงิน นาก พันผ้าสีชมพู อย่างละ 3 แผ่น สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงก่อ
และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า
https://www.facebook.com/ArtsandCultureSSRU