หนึ่งในพันธกิจหลักของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
คือ การสืบสาน เผยแพร่
และให้บริการวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับนักศึกษายุคใหม่ได้เรียนรู้และเข้าใกล้ศิลปวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม นำโดย อาจารย์
ดร.ศิริมาลย์ วัฒนา
รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะฯ
ได้จัดโครงการสร้างองค์ความรู้ในงานประณีตศิลป์
ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สาขาวิชาการจัดการสังคมและวัฒนธรรม
แขนงวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่
27 และ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
โดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้การกระแหนะลาย
และการทำขนมไทยทองเอกและเสน่ห์จันทน์
กิจกรรมเริ่มจากการให้ความรู้ในเรื่องของประวัติความเป็นมาของสวนสุนันทา
ตั้งแต่การเป็นสวนท้ายวังในอดีต
จนเป็นศูนย์รวมฝ่ายในที่ใหญ่ที่สุด
การเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง
และการก่อตั้งเป็นสถาบันการศึกษา
เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นภาพการเปลี่ยนผ่านของสวนสุนันทาจากอดีตจวบจนปัจจุบัน
จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการกระแหนะลายปิดทองโบราณเพื่อทำเป็นปิ่นปักผม
ซึ่งเป็นหนึ่งในงานประดิษฐ์เครื่องศิราภรณ์
โดยมี อาจารย์สมศักดิ์ ทองปาน
เป็นวิทยากรสอนการใช้ดินกดลายและกระแหนะลายลงบนปิ่นปักผม
การปิดทองและประดับเพชรเพื่อความสวยงาม
โดยงานกระแหนะลายปิดทองโบราณนั้น
เป็นงานฝึกอบรมเพื่อแสดงให้นักศึกษาเห็นว่า
งานศิลปะโบราณที่ดูเหมือนจะยากนั้น
ถ้านักศึกษาได้มีความรู้และเข้าใจ
ได้ลงมือทำ งานศิลปวัฒนธรรมที่ว่ายากนั้น
เราเองก็สามารถที่จะทำได้
.
.
จากนั้นเมื่อนักศึกษาได้เข้าถึงศิลปวัฒนธรรมส่วนหนึ่งแล้ว
ในวันที่ 29 พฤศจิกายน สำนักศิลปะฯ
ได้จัดอบรมนักศึกษาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2
โดยได้เชิญวิทยากร อาจารย์ศิริภัสสร
โชควศิน และ อาจารย์เกศกัญญา แก้วงาม
ผู้เชี่ยวชาญด้านงานฝีมือและขนมไทยชาววัง
โดยได้ให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำขนมทองเอกและเสน่ห์จันทน์
ขนมไทยโบราณที่หารับประทานได้ยาก
ซึ่งทองเอกและเสน่ห์จันทน์นั้นเป็นขนมที่อยู่ใน
9 ขนมมงคล คือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง
ขนมชั้น เม็ดขนุน ถ้วยฟู จ่ามงกุฎ ทองเอก
และเสน่ห์จันทน์
โดยนักศึกษาได้เรียนรู้ว่าขนมไทยโบราณที่หารับประทานได้ยาก
และมีราคาแพงนั้น ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก
หากมีความตั้งใจและความเข้าใจแล้ว
เราสามารถทำขนมโบราณนี้ได้
ซึ่งไม่เพียงแต่การทำเพื่อรับประทานหรือแจกจ่ายให้ผู้อื่นแล้ว
ยังสามารถต่อยอดเป็นอาชีพเสริม
หารายได้ให้กับตนเองอีกทางหนึ่งด้วย
.
.
บรรยากาศการอบรมเต็มไปด้วยรอยยิ้มของนักศึกษาที่สะท้อนถึงความสนุกสนาน
ซึ่งถือเป็นการสร้างทัศนคติใหม่ให้กับวัยรุ่นว่า
วัฒนธรรมไทย ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ
เราสามารถปรับเปลี่ยนให้สนุกและเหมาะกับวัยรุ่นได้
เมื่อวัยรุ่นได้เรียนรู้
เข้าใจและลงมือทำก็จะสามารถเข้าใจวัฒนธรรมได้อย่างถ่องแท้
การสืบสานวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป