งานนิทรรศการ “ข้าหลวงสวนสุนันทา บรรพชนผู้สืบสานงานศิลป์”
ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรมการบรรเลงดนตรีไทย ที่ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ซอสามสาย ซอด้วง จะเข้ ซออู้ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวง ขลุ่ย กรับ ฉิ่ง และโทน รำมะนา โดยได้มีการขับร้องและบรรเลง ถึง ๑๑ เพลง คือ โหมโรงไอยเรศ, จีนรำพัด, แขกมอญบางช้าง ๒ ชั้น, จีนแส (เดี่ยวจะเข้), สร้อยสนตัด, เต่าเห่ ๒ ชั้น, ทองย่อน ๒ ชั้น, พราหมณ์ดีดน้ำเต้า ๒ ชั้น, นกจาก, เวสสุวรรณ และ ลาวดำเนินทราย
ดนตรีในวัง
“วงมโหรีสำนักพระวิมาดาเธอฯ”
เรียบเรียง
: ผู้ช่วยศาสตราจารย์พันธ์ศักดิ์
วรรณดี
เป็นที่ทราบกันดีในบรรดาเจ้านายและบุคคลชั้นสูง สมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าที่ตำหนักของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ในสมัยนั้นเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่กุลสตรีที่ไม่มีสถานที่ใดสู้ได้ จึงมีผู้พาลูกหลานเข้าถวายตัวอยู่ด้วยจำนวนมาก หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ได้เขียนไว้ในอนุสรณ์งานฌาปากิจศพนางรักษ์วรัยการ (จร โคบุตร) เมื่อพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ประทับอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ มีผู้พาลูกหลานเข้าไปถวายตัวอยู่ด้วยมากมาย เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสแก่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ว่ามีเด็กมาก ๆทำไมไม่เล่นมโหรี ตรงกับที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ได้เขียนไว้ในบทความสยามสังคีตถึงพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ว่าได้ทรงส่งเสริมให้กุลสตรีไทยได้มีการศึกษาในแขนงวิชาการต่าง ๆ จนได้ชื่อเสียงว่าการศึกษาสตรีในวังสมัยนั้นไม่มีสถานที่ใดสู้ของท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการช่าง การบริบาล การครัวและอาหาร ตลอดจนถึงการดนตรี
โดยเฉพาะการส่งเสริมการศึกษาด้านดนตรีนั้น มีต้นเหตุให้มีการศึกษาอย่างจริงจัง จากบันทึกคำสัมภาษณ์ของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ที่ให้ไว้แก่ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ในเรื่องนี้ว่า ท่านไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าตัวเองจะมีความสามารถในการขับร้อง เมื่ออายุ ๑๑ ปี เข้าไปอยู่ในวังกับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ นั้นยังไม่รู้จักเพลงการอันใดทั้งสิ้น เพราะเหตุที่ยังเป็นเด็กก็ต้องเรียนหนังสือบ้าง เรียนการช่างการฝีมือบ้าง ตลอดไปจนการครัว ดนตรีและขับร้องนั้นมาเรียนเอาเมื่ออายุราว ๑๔ ปีแล้ว เหตุที่จะเรียนดนตรีเพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรในปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๔๗ (คุณจอมสดับอายุได้ ๑๕ ปี ยังไม่เต็มดี) เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงจัดให้ข้าหลวงที่เคยร้องเพลงได้มาก่อนแล้ว รวมกลุ่มกันขึ้นขับร้องเพลงถวาย นำหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา ในรัชกาลที่ ๒ มาเปิดแล้วตั้งต้นร้องเพลงไปตามบท โดยไม่มีดนตรีรับลูกคู่นั้น ก็ได้แก่ ข้าหลวงเด็ก ๆหลายคน รวมทั้งเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ด้วย
เมื่อเด็ก ๆ ส่วนมากยังร้องกันไม่ได้ จึงคุมกันเป็นกลุ่มหัดร้อง ตอนกลางวันเป็นการซ้อม โดยในขณะนั้นมี “คุณเฒ่าแก่จีบ” เป็นคนจักษุพิการแต่เสียงเพราะร้องเพลงดีมาก มือซ้ายของคุณเฒ่าแก่นั้นมีแรงดีอยู่เพียงข้างเดียว จึงถือไม้เรียวไว้เคาะจังหวะแทนนิ่ง ถ้าตีเบาๆแทนเสียง นิ่ง ถ้าตีแรงมากแทนเสียงฉับ ถ้าร้องไม่ถูก ไม้เรียวนั่นก็ฟาดคนร้องทันที เพลงที่สอนก็เป็นเพลงละครในทั้งหมด เช่น ร้องช้าปี ร้องร่าย ฯลฯ เมื่อซ้อมร้องกลางวันได้ดีแล้ว เวลา ๓ ทุ่ม ก็ไปทำหน้าที่ขับร้อง ครั้นร้องไปนาน ๆ ไม่มีดนตรี ก็จัดกลุ่มหัดเล่นเครื่องสายกันอีกกลุ่ม ตอนที่หัดเป็นเครื่องสายครั้งแรกๆ ก็มีไม่กี่คน มีหม่อมสุด บุนนาค มาช่วยสอน แล้วต่อมาก็ขยายขึ้นเป็นวงมโหรี