หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ : ตอนที่ ๖ : วันนี้ในอดีต – ๒๙ มกราคม ๒๔๗๘ วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ : ตอนที่ ๖ : วันนี้ในอดีต – ๒๙ มกราคม ๒๔๗๘ วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2022-08-18 15:16:24

พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ : ตอนที่ ๖ :

วันนี้ในอดีต – ๒๙ มกราคม ๒๔๗๘ วันสิ้นพระชนม์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล

วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี


          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ทรงเป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๕๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ ๔ ในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงมีพระเชษฐภาดา และพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา

          เมื่อแรกประสูติดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้านิภานภดล ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยศขึ้นเป็น พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล และเมื่อทรงเจริญพระชันษาโสกันต์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ และได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และในสมัยรัชกาลที่ ๘ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตรขัตติยนารี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

          สมเด็จเจ้าฟ้าฯ นิภานภดล ทรงเป็นพระราชธิดาที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระเมตตามากพระองค์หนึ่ง ด้วยทรงพระปัญญาอุสาหะศึกษาวิชาความรู้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงรอบรู้ราชกิจและวิชาการ จนสามารถรับราชการในตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชนกนาถจนเสด็จสวรรคต และเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลังในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงพระราชหฤทัยที่สนิทเสน่หายิ่ง เมื่อทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานมิได้ขาด รวมแล้วกว่า ๔๓ ฉบับ ซึ่งภายหลังทรงรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความรักความห่วงใยของพ่อที่ทรงมีต่อลูกได้ประจักษ์ชัดแจ้ง ดังข้อความที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขา อาทิ

          “พ่อคิดถึงลูกเหลือประมาณทีเดียว สารพัดในการหนังสือที่เคยใช้ต้องทำเองทั้งสิ้น จนนอนฝันไปว่าให้หญิงน้อยอ่านหนังสือ Development of the European Nations ให้ฟัง (เพราะพ่อกำลังอ่านอยู่) นอนฟังสบาย (เพราะนอนจริงๆ) นึกเปลี่ยวใจที่ไม่มีใครช่วยในการหนังสือ ยังไม่เคยลืมคิดถึงแต่สักวันหนึ่งเลย” และเมื่อทรงเล่าถึงเมืองโบราณต่างๆ ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขา ต่อไปว่า

“เมืองเหล่านี้ พ่อเข้าใจว่าลูกรู้จักทั้งนั้น เพราะมีในหนังสือเช็คสเปียร์ที่ เคยอ่าน ความรู้สึกมันขัน รู้สึกอี๋ๆ ปลื้มๆ คุ้นเคย เหมือนอย่างไปเมืองดาหา เมื่อสิงหัดส้าหรี เมืองกาหลังที่ชวา เกี่ยวด้วยเรื่องอ่านหนังสือเท่านั้น พูดกับคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือไม่รู้สึก”

          ในปลายสมัยราชกาลที่ ๖ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองเขตรขัตติยนารี ได้ตามเสด็จพระวิมาดาเธอฯ พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา เข้ามาประทับในสวนสุนันทา ณ ตำหนักขนาดใหญ่ โดยพระวิมาดาเธอฯ ประทับพร้อมกับสมเด็จสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีสัชชนาลัยสุรกัญญา ประทับในตำหนักส่วนพระองค์ ถัดออกไปทางด้านทิศตะวันออก

          ความสนพระทัยอย่างหนึ่งของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองเขตรขัตติยนารี คือ ทรงเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ในเรื่องการศึกษา ถึงกับทรงให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นภายในบริเวณที่ประทับ เรียกว่า โรงเรียนนิภาคาร เพื่อให้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระญาติและบรรดาข้าหลวงในพระองค์ โดยมีการจ้างทั้งครูชาวไทยและชาวต่างประเทศมาดำเนินการสอน นักเรียนทุกคนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีอาหารรับประทานทุกมื้อ และมีอุปกรณ์การเรียนครบถ้วนอย่างโรงเรียนทั่วไป เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วให้ไปสอบเทียบที่โรงเรียนสายปัญญา หากสอบได้จะประทานรางวัลแก่บุคคลผู้นั้นทุกครั้งไป เรื่องการศึกษานี้ทรงใส่พระทัยมากเป็นพิเศษ ถึงกับเคยมีดำริที่จะตั้งเป็นโรงเรียนหลวงให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงรับสั่งให้พระองค์ธานี (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น เข้าเฝ้าถวายคำแนะนำการดำเนินการ แต่เป็นที่น่าเสียดายเมื่อเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น ทุกสิ่งอย่างจึงต้องยุติไป

          ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เสด็จออกจากสวนสุนันทาย้ายไปประทับที่พระตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา แม้รัฐบาลในขณะนั้นจะมิได้กล้ำกรายต่อพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในประการใด แต่ข่าวลื่อต่างๆ รวมทั้งการที่ทรงรับข่าวสารจากต่างประเทศเป็นประจำ ส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงและความไม่มั่นใจในความปลอดภัย การเสด็จไปต่างประเทศน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด จึงได้ตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเชีย ณ พระตำหนักดาหาปาตี โดยดำเนินพระจริยวัตรที่เรียบง่ายเยี่ยงสามัญชน บางครั้งเสด็จไปร้านสะดวกซื้อด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นเจ้านายที่ใช้เงินเป็น คิดเห็นอะไรมาดูก่อน ถ้าไม่โปรดก็คืน ถ้ากริ้วไม่รับสั่ง ใช้สายตามองเฉยๆ ถึงแม้เสด็จประทับยังต่างประเทศก็ยังคงอุ่นหนาฝาคั่งด้วยพระประยูรเสด็จมาเยี่ยมเยียนมิได้ขาด และทรงมีรับสั่งกลับมาทางกรุงเทพฯ เสมอๆ

          ในบั้นปลายพระชนมชีพ ทรงประชวรพระวักกะพิการมาเป็นเวลานาน กระทั้งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ก่อนสิ้นพระชนม์ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ทรงรับสั่งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี ออกมารับและเป็นผู้สรงน้ำพระศพ ครั้นสรงน้ำแล้วจะเชิญพระศพลงพระหีบ ให้ทำกันเองอย่างธรรมดา โดยกรมพระนครสวรรค์วรพินิตช้อนพระเศียร พระองค์เจ้าเหมวดีช้อนกลางพระองค์ และข้าหลวงตามเสด็จผู้หนึ่งช้อนพระบาท ส่วนกรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินีทรงเป็นประธาน ในการนำพระศพไปไว้ที่สุสาน รอจนรัฐบาลอนุมัติให้อัญเชิญพระศพกลับกรุงเทพฯ ประมาณ ๑ เดือน จึงได้อัญเชิญพระศพลงเรือที่ปัตตาเวีย เดินทางไปสิงคโปร์ เพื่อขึ้นเรือภาณุรังษีที่รัฐบาลจัดไว้ให้ จากนั้นเดินทางต่อโดยรถไฟจนถึงกรุงเทพฯ

อ้างอิง

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จ.(2508).พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน เล่ม 1-2.กรุงเทพฯ : แพร่วิทยา

นริศรา จักรพงษ์,ม.ร.ว..(2532).จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์.กรุงเทพฯ : พิษณุโลกการพิมพ์

วิทยาลัยครูสวนสุนันทา.(2523)สวนสุนันทาในอดีต.กรุงเทพฯ : วิทยาลัยครูสวนสุนันทา

_______.ม.ป.ป.เรื่องเล่าชาววัง.กรุงเทพฯ : วิทยาลัยครูสวนสุนันทา

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.(2555).สวนสุนันทา.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา