เรียนรู้เครื่องว่างชาววังในกิจกรรมอบรมศิลปวิทยาการ ศาสตร์ราชสำนัก ตอน เครื่องว่างชาววัง สำนักพระวิมาดาเธอ
การรับประทานอาหารว่าง สันนิษฐานว่าคงได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ ด้วยแต่เดิมคนไทยไม่นิยมรับประทานอาหารระหว่างมื้อ เนื่องจากลักษณะการประกอบอาชีพที่ไม่เอื้อนอำนวยต่อการประกอบอาหาร และจำต้องใช้วัตถุดิบเกินความจำเป็น การรับประทานอาหารว่างจึงมักปรากฏอยู่ในสำรับของเจ้านายในวัง ที่เรียกว่า "เครื่องว่าง" ซึ่งปรากฏว่ามีหลากหลายชนิดทั้งอาหารไทย อาหารจีน และอาหารตะวันตก โดยมากมักรับประทานควบคู่กับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น ขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้รับประทานเป็นสำคัญ
สำนักพระวิมาดาเธอฯ ได้รับการยอมรับว่าเป็นเอกในทางการครัว ด้วยเคยเป็นผู้กำกับห้องเครื่องตลอดสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเป็นพระภาระในการคิดค้นดัดแปลงอาหารชนิดต่าง ๆ จากทั้งของไทยและต่างชาติ แล้วปรับให้เข้ากับรสปากของคนไทย เช่น “สะเต๊ะลือ” อาหารชาวชวา ที่รับสั่งให้นำพ่อครัวเข้ามาสอนคุณข้าหลวงภายในตำหนัก จนเป็นที่เลื่องลือถึงรสชาติอันแสนวิเศษ ดังที่ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ข้าหลวงในสวนสุนันทา ได้ได้บรรยายไว้ความว่า
“ส่วนสะเต๊ะลือนี้ เขาก็มีชื่อตามภาษาชวาของเขา แต่ด้วยความอร่อยถูกปากคนกินหนักหนา พระวิมาดาเธอ จึงโปรดให้ชื่อเสียใหม่ว่า สะเต๊ะลือ”
“สะเต๊ะลือได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากตำราเดิม เพื่อให้เหมาะสมที่จะเป็นอาหารภาคกลาง”
การปรากฏอาหารต่างชาติในเครื่องว่างสำนักพระวิมาดาเธอฯ สะท้อนให้เห็นถึงความฉลาดในการรับและปรับเปลี่ยนต่อสิ่งใหม่ โดยไม่สูญเสียความเป็นตัวตนไป สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยไหวพริบและความละเอียดของผู้มีทักษะด้านการครัวอย่างแท้จริง