พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ : ตอนที่ ๗
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
ที่มาแห่งนาม “สวนสุนันทา”
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๕๐ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีวอก โทศก จุลศักราช ๑๒๒๒ ตรงกับวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๓ ทรงมีพระเชษฐา พระขนิษฐา และพระอนุชาร่วมพระชนนี ตามลำดับดังนี้
๑.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
๓. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
๔. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
๕. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
๖.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงได้รับการถวายการศึกษาตามแบบกุลสตรีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้รับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้า พระองค์ที่ ๖ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๑ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี
ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ นำมาซึ่งความเศร้าโศก และสะท้อนในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่ง เมื่อเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ล่มลงกลางลำน้ำที่ตำบลบางพูด จังหวัดนนทบุรี ระหว่างตามเสด็จทางชลมารคประพาสพระราชวังบางปะอิน เมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ แรม ๘ ค่ำ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ ตรงกับวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นเหตุให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งทรงครรภ์ได้ ๕ เดือน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ พระชันษาเพียง ๓ ปี สิ้นพระชนม์ลง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพมาอย่างสมพระเกรียติ โดยประทับในห้องสลูน (ห้องประทับส่วนพระองค์) ของเรือพระที่นั่งเวสาตรี ล่องมาจากบริเวณที่เกิดเหตุเวลา ๔ ทุ่ม ถึงพระนครเวลา ๒ นาฬิกา แล้วสรงน้ำพระศพในเรือนพระที่นั่งลำนี้ เมื่อเวลาเช้าของวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๓ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระโกศทองใหญ่ ซึ่งมีลำดับศักดิ์สูงสุดทรงพระศพ แต่ให้อัญเชิญพระโกศของทั้ง ๒ พระองค์ ขึ้นประดิษฐานยังหอธรรมสังเวช แทนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามธรรมเนียมปฏิบัติ ด้วยทรงเกรงว่าจะมิเป็นการบังควรที่จะนำพระศพซึ่งทรงครรภ์ขึ้นไปประดิษฐานบนปราสาท นอกจากนี้พระองค์ยังทรงควบคุมการตระเตรียมงานพระศพด้วยพระองค์เอง แม้กระทั้งเรื่องเล็กน้อยก็ทรงใส่พระทัย จนเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับงานศพในปัจจุบัน เช่น ประเพณีการทำบุญศพ ๑๐๐ วัน การพิมพ์หนังสือสำหรับแจกเป็นที่ระลึก การถวายพัดรอง ล้วนเกิดขึ้นในงานพระศพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ แทบทั้งสิ้น
สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงได้รับการยกย่องตามฐานะแห่งพระอิศริยยศ โดยทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศจากพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ และถึงแม้จะมิเคยมีหลักฐานที่แน่ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนิทเสน่หาโปรดปรานพระเมเหสี หรือเจ้าจอมผู้ใดเป็นพิเศษ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นประจักษ์แจ้แห่งความอาลัยรักต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ โดยตลอดรัชสมัยของพระองค์ ได้ทรงสร้างสิ่งระลึกถึงไว้มากกว่าผู้ใด ซึ่งแต่ละแห่งล้วนเป็นสถานที่แห่งความระลึกถึงของทั้งสองพระองค์ และถาวรวัตถุอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน ดังนี้
๑.สุนันทานุสาวรีย์ ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
๒.พระอนุสาวรีย์หินอ่อนสีขาวยอดปรางค์ พร้อมคำจารึก ณ สวนสราญรมย์
๓.พระอนุสาวรีย์ทรงพีระมิด พร้อมคำจารึก ณ น้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี
๔.พระอนุสาวรีย์หินอ่อนยอดหกเหลี่ยมทรงสูงบนฐานรูปสี่เหลียม พร้อมคำจารึก ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๕.พระเจดีย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเกาะพญาเจ่ง ณ บางพูด จังหวัดนนทบุรี
๖.โรงเรียนสุนันทาลัย หรือโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อันเป็นพระมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในการก่อสร้าง ตึกใหญ่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลปากคลองตลาด จังหวัดนนทบุรี
๗.สวนสุนันทา พระราชวังดุสิต พระนามที่เข้าใจว่าถูกใช้เพื่อเป็นการระลึกถึง และนับเป็นสถานที่สุดท้ายแห่งการระลึกถึงของพระองค์ โดยทรงมีพระราชประสงค์เพื่อพระราชทานแก่บรรดาพระมเหสี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และเจ้าจอมสำหรับเป็นที่ประทับหลังจากพระองค์สวรรคต
สวนสุนันทา พระราชวังดุสิต พระนามที่เข้าใจว่าถูกใช้เพื่อเป็นการระลึกถึง และนับเป็นสถานที่สุดท้ายแห่งการระลึกถึงของพระองค์ โดยทรงมีพระราชประสงค์เพื่อพระราชทานแก่บรรดาพระมเหสี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และเจ้าจอมสำหรับเป็นที่ประทับหลังจากพระองค์สวรรคต