หน้าหลัก > ประกาศ > พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ > พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ตอนที่ ๑๔ : จากสภาอุณาโลมแดง สู่สภากาชาดไทย
พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ตอนที่ ๑๔ : จากสภาอุณาโลมแดง สู่สภากาชาดไทย

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2021-05-10 13:06:42

พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ตอนที่ ๑๔ :

จากสภาอุณาโลมแดง สู่สภากาชาดไทย


           สภากาชาดไทย เป็นองค์กรการกุศลเพื่อมนุษยธรรม ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) มีชื่อเรียกเมื่อก่อตั้งว่า สภาอุณาโลมแดง องค์กรนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับเขตแดนริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและมีการสู้รบเกิดขึ้น  เป็นผลให้มีทหารเสียชีวิต และบาดเจ็บ ได้รับความทุกข์ทรมานจำนวนมาก แต่ยังไม่มีองค์การกุศลใดเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้เป็นกิจลักษณะ

          ดังนั้นกุลสตรีไทยผู้สูงศักดิ์ในเวลานั้น โดยการนำของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้ชักชวนบรรดาสตรีไทยช่วยกันเรี่ยไรเงินและสิ่งของ เพื่อส่งไปช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ และมีความเห็นว่าควรจะมีองค์การใดองค์การหนึ่งช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของทหาร เช่นเดียวกับองค์การกาชาดของต่างประเทศ จึงได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงเป็นชนนีบำรุง คือ เป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์การ เพื่อบรรเทาทุกข์ยากของทหาร ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชดำริว่า เป็นความคิดที่ต้องด้วยแบบอย่าง อารยประเทศที่ เจริญแล้วทั้งหลาย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดง” ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๓๖  ต่อมาถือเอาวันดังกล่าวนี้ เป็นวันสถาปนาสภากาชาดไทย และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็น “สภาชนนี” สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ทรงเป็น สภานายิกา  ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็น เลขานุการิณี และ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ เป็นเหรัญญิกา สภาอุณาโลมแดง

          พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงดำรงตำแหน่งพระยุพราชเสด็จ กลับจากการศึกษา ในประเทศอังกฤษผ่านมาทางประเทศญี่ปุ่น ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงพยาบาลของกาชาดญี่ปุ่น ทำให้ทรงพระดำริว่า ถ้าได้จัดโรงพยาบาลของกาชาดขึ้นในเมืองไทย ก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ฉะนั้น เมื่อ สมเด็จพระราชบิดา เสด็จสู่ สวรรคาลัย พระองค์จึงได้ร่วมกับพระราชภราดาภคินี ทรงบริจาคทรัพย์รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่ สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์ แล้วโปรดเกล้าฯ ขนานนามตามพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในพระราชบิดา ให้โรงพยาบาลนี้ เป็นของสภากาชาดสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ชื่อสภาอุณาโลมแดง และสภากาชาดนี้ เรียกปะปนกันตลอดมา แต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ชื่อสภาอุณาโลม แดงก็สูญไป คงใช้กันแต่ สภากาชาดสยาม หรือสภากาชาดไทย ตามชื่อประเทศ ซึ่งเปลี่ยนจาก สยามเป็นไทย มาจนบัดนี้

          สำหรับเครื่องหมายอุณาโลมแดงนั้น ประกอบด้วยเครื่องหมายกากบาทตรงกลาง หมายถึงทิศทั้ง ๔ ที่มีเครื่องหมาย อ-อุ-ม อยู่ตรงกลาง จะหมายถึงพระรัตนตรัย หรือเทพเจ้าทั้ง ๓ ทรงคุ้มครองทั้ง ๔ ทิศ ก็ได้ ส่วนยันต์เป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นมุม ๘ มุม ก็คือ ทิศที่ย่อยออกไปจาก ๔ ทิศเป็น ๘ ทิศ ถ้าไปดูฐานเจดีย์ทางเมืองกำแพงเพชรและสุโขทัย บางองค์ก็จะทำฐาน ๔ เหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ฐานเป็น ๘ เหลี่ยมในลักษณะเดียวกัน

          ลัญลักษณ์อุณาโลมแดงจึงมีความหมายถึง สิริมงคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา รวมทั้งองค์พระมหากษัตริย์เจ้า เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เป็นธงชัยของผู้เสี่ยงชีวิตเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามอุดมการณ์ของกาชาดสากลในวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ซึ่งประกอบด้วยทหาร พลเรือนทั้งชายและหญิงโดยไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สภากาชาดไทย

รวีโรจน์ สิงห์ลำพอง : เรียบเรียง

สาลินี บุญสมเคราะห์ : ภาพประกอบ