พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าผ่องประไพ หรือ
พระองค์เจ้าผ่อง เป็นพระราชธิดาพระองค์แรก
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข
เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม ๘ ค่ำ
ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๐
เมื่อประสูติได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ว่า “หม่อมเจ้าผ่องประไพ”
เพราะขณะนั้นพระบิดาดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ
ส่วนพระมารดาเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบิดา
ขณะพระบิดามีพระชนมายุเพียง ๑๔-๑๕ พรรษา
ส่วนพระมารดามีอายุมากกว่าพระบิดาประมาณ ๓
ปี เมื่อหม่อมเจ้าผ่องประไพประสูติใหม่ ๆ
นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้เป็นพระอัยกากริ้วหม่อมราชวงศ์แขที่ทำให้พระราชโอรสของพระองค์ทรงประพฤติผิดเกินวัย
แต่พระองค์ก็มิได้ทรงลงโทษหม่อมราชวงศ์แข
มีเรื่องเล่าว่าเมื่อหม่อมเจ้าผ่องประไพทรงประสูติใหม่ ๆ เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ ๔ ได้อุ้มหม่อมเจ้าผ่องประไพให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถามว่าเด็กหญิงคนนี้เป็นธิดาของใคร เจ้าจอมมารดาเที่ยงไม่ได้ทูลตอบแต่ทูลถามว่าเด็กหญิงคนนี้รูปร่างหน้าตาเหมือนใคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบว่า "เหมือนแม่เพย" (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ และอัยยิกาของหม่อมเจ้าผ่องประไพ)
ภายหลังจากเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ถึงแก่อนิจกรรม พระองค์เจ้าผ่องประไพได้ประทับในพระบรมมหาราชวังจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ในวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ สิริพระชันษา ๗๕ ปี ซึ่งมีปรากฏหลักฐานจากพระหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ในสาสน์สมเด็จ ความว่า "องค์หญิงผ่อง สิ้นพระชนม์วันที่ ๑๑ มีนาคม ประชวร พระโรคชรา รุ่งขึ้นวันที่ ๑๒ เชิญพระศพออกไปที่หออุเทศทักษิณา สรงพระศพพระองค์เจ้าผ่องที่ตำหนัก แล้วเชิญพระโกศออกไปตั้งที่หออุเทศทักษิณา วันที่ ๑๒ มีนาคม ให้ในพระราชสำนักไว้ทุกข์ถวายพระองค์เจ้าผ่อง ๗ วัน พระราชกุศล ๗ วัน ที่พระศพพระองค์เจ้าผ่อง ณ หออุเทศทักษิณา วันที่ ๑๘ มีนาคม ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระหัตถเลขากราบทูลกลับ ความว่า "เป็นความรู้ใหม่ที่พระองค์หญิงผ่องสิ้นพระชนม์ แต่พระชนมมายุได้ ๗๕ ปี โดยเฉพาะที่เป็นพระเจ้าลูกเธอของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ควรนับว่าพระชันษายืนมาก พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
แหล่งที่มา - วิกิพีเดีย
ภาพโดย - นายเอกลักษณ์ สุริยะญาติ