พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระสมมตอมรพันธุ์ พระนามเดิม
พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ
เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหุ่น
(ภายหลังทรงสถาปนาเป็น ท้าวทรงกันดาล)
เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๓
ในพระบรมมหาราชวัง
พระชันษาได้ ๕ ปี
ทรงศึกษาหนังสือไทยในพระบรมมหาราชวัง
ในสำนักหม่อมเจ้าจอมในกรมหมื่นเสนีบริรักษ์
ทรงศึกษาภาษามคธในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา
(เปี่ยม) และสำนักขุนปรีชา- นุสาสน์ (โต
เปรียญ)
และศึกษาภาษาอังกฤษในสำนักมิสเตอร์ยอร์ช
แปตเตอร์สัน ในโรงเรียนหลวง ครั้น พ.ศ.
๒๔๑๕ พระชันษาถึงกำหนดโสกันต์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
โสกันต์แล้ว ถึง พ.ศ. ๒๔๑๖
ได้ทรงผนวชสามเณรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ในสำนักสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ๒ พรรษา
ทรงฝึกหัดเทศน์มหาชาติกัณฑ์จุลพนกับพระมหาราชครูมหิธร
(ชู) ครั้นลาผนวชแล้ว
เสด็จมาประทับอยู่ที่วังกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์
ณ ตำบลสำราญราษฎร์
เมื่อทรงสร้างวังตรงถนนบำรุงเมืองเสร็จแล้ว
จึงเสด็จมาประทับตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ พ.ศ.
๒๔๒๓ โปรดเกล้าฯ
ให้ทรงรับตำแหน่งหัวหน้าราชเลขานุการอยู่ในออฟฟิศหลวง
ทรงเป็นนายด้านบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยทรงทำศาลารายขึ้นใหม่บ้าง
ซ่อมแซมที่ชำรุดและทำค้างมาบ้างทั่วทั้งพระอาราม
ซ่อมลายปั้นผนังและช่อฟ้าใบระกาหลังคาพระอุโบสถ
ซึ่งซ่อมค้างและชำรุดให้สมบูรณ์
ซ่อมการปั้นและเขียนสีลงรักปิดทองภายนอกพระอุโบสถและประดับศิลาฐานชุกชีพระอุโบสถทั้งหมด
เมื่อพ.ศ.
๒๔๒๔ ทรงอุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ธอ
กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช
(สา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ประทับอยู่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
ตลอดพรรษา
แล้วทรงลาผนวชเข้ารับราชการต่อไป
พ.ศ.
๒๔๒๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ทรงรับราชการในตำแหน่งปลัดบัญชีกลาง
กระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกตำแหน่งหนึ่ง
แต่ภายหลังทรงลาออกจากตำแหน่งปลัดบัญชีกลาง
คงรับราชการในหน้าที่ราชเลขานุการเพียงตำแหน่งเดียว
พ.ศ.
๒๔๒๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม
มีพระนามตามจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์
ครั้นทรงกรมแล้วต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๐
ได้ทรงเป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงกำกับการโรงเรียนราชกุมารและโรงเรียนราชกุมารี
ทรงเป็นข้าหลวงสอบไล่วิชานักเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
ในพ.ศ. ๒๔๓๕
ทรงเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการได้เดือนหนึ่ง
แล้วโปรดให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังข้างที่
ภายหลังทรงลาออกคงรับราชการเพียงตำแหน่งราชเลขานุการเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังทรงมีตำแหน่งพิเศษอื่น
ๆ อีก เช่น
ตำแหน่งลัญจกราภิบาลของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์และช้างเผือก
มัคนายกวัดเทพธิดาราม
กรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย
กรรมการรักษาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
รัฐมนตรี
ทรงปฏิบัติราชการแทนเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
และเสนาบดีกระทรวงวัง
ทรงเป็นกรรมสัมปาทิกและสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ
โดยทรงเป็นตำแหน่งเหรัญญิก และเป็นสภานายก
๒ ครั้ง คือในพ.ศ. ๒๔๓๐ และ พ.ศ. ๒๔๓๖
สภานายกหอพุทธสาสนะสังคหะ
สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร พ.ศ.
๒๔๕๓ – ๒๔๕๗ รวม ๕ ปี
ทรงเป็นสมาชิกโบราณคดีสโมสรตั้งแต่แรกตั้ง
ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสในประเทศ
และต่างประเทศ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระสมมตอมรพันธุ์ สิ้นพระชนม์
เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา
๑๕.๐๒ น. พระชันษา ๕๕ ปี
ทรงเป็นต้นราชสกุล
สวัสดิกุล
แหล่งที่มา - บุหลง
ศรีกนก, พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์
เกษมศรี (เรียบเรียง) :
นามานุกรมวรรณคดีไทย และ
วิกิพีเดีย