พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดให้วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นวันประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ ตำหนักใหญ่ วังสระปทุม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อใกล้ถึงเวลาพระฤกษ์ เวลา ๐๙.๓๐ น. หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ทรงนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ไปยังวังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ลงนามในสมุดทะเบียนสมรส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขี ๒ คน คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น และพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น ร่วมลงนามด้วย เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชปิตุลา และในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่จัดขึ้นในเวลาต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า สถาปนา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่สมเด็จพระราชินีในโอกาสนี้ด้วย
นับถึงปัจจุบัน เป็นเวลายาวนานถึง ๗๒ ปีแล้ว พระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ยังคงจารึกอยู่ในดวงใจของพสกนิกรชาวไทยเสมอมา
ที่มา: วิกิพีเดีย