หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > (วันนี้ในอดีต) ๔ กันยายน ๒๔๐๖ วันประสูติ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
(วันนี้ในอดีต) ๔ กันยายน ๒๔๐๖ วันประสูติ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2022-09-14 15:47:24


พระวิมาดาเธอ  กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ  เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นภูมินทรภักดี องค์ต้นราชสกุล “ลดาวัลย์”  ณ อยุธยา (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เจ้าจอมมารดาเอมน้อย) กับ เจ้าจอมมารดาจีน ประสูติที่วังพระบิดา ณ ตำบลท่าเตีย เมื่อประสูติดำรงพระสกุลยศเป็นหม่อมเจ้า ทรงพระนามว่า หม่อมเจ้าสาย ครั้นทรงดำรงตำแหน่งพระอัครชายาเธอ บรรดาสกุลญาติและผู้ใกล้ชิดมักเรียกพระอัครชายาพระองค์เล็กหรือท่านองค์เล็ก เนื่องจากทรงมีพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาอีก ๒ พระองค์ ที่ทรงดำรงพระยศเป็นพระอัครชายาเธอ เช่นกัน คือ พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาคฯ สกุลญาติและผู้คุ้นเคย เรียกว่า พระอัครชายาองค์ใหญ่ หรือท่านองค์ใหญ่ และ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน สกุลญาติและผู้คุ้นเคยเรียกว่า พระอัครชายาองค์กลาง หรือ ท่านองค์กลาง

พระวิมาดาเธอ ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ คือ

๑.สมเด็จฯเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (ต้นราชสกุล “ยุคล ณ อยุธยา”)

๒.พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี  (สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังมิได้ทรงกรม)

๓.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา สิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา

๔.สมเด็จฯเจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตรขัตติยนารี

          พระวิมาดาเธอฯ มีพระกรณียกิจที่สำคัญคือ ทรงกำกับดูแลห้องเครื่อง ดูแลเรื่องพระกระยาหารเสวยตลอดรัชกาลที่ ๕  ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยทรงตั้งโรงเลี้ยงเด็กขึ้นที่ถนนบำรุงเมือง ตำบลสวนมะลิ เพื่อสงเคราะห์แก่เด็กกำพร้า หรือเด็กที่พ่อแม่ยากไร้ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรของตนได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า โรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอฯ พระกรณียกิจนี้นับเป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาล อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานนี้เป็นต้นแบบของกิจการสังคมสงเคราะห์ในเวลาต่อมาได้อย่างชัดเจน นอกจากพระเมตตาคุณต่อผู้ด้อยโอกาส และพระปรีชาสามารถในการกำกับห้องเครื่องแล้ว ยังสนพระทัยในศิลปะหลากหลายแขนง ทั้งการดนตรี การประดิษฐ์ดอกไม้ ภาพวาด เป็นต้น จนเป็นที่ปรากฏในเวลาต่อมาว่า ข้าหลวงตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ล้วนมีความสามารถในการจัดดอกไม้ ร้อยมาลัยได้อย่างสวยงามโก้เก๋ จนได้รับหน้าที่ร้อยมาลัยสำหรับพระราชพิธีอยู่เป็นประจำ ส่วนภาพวาดนั้นทรงโปรดให้ข้าหลวงที่มีฝีมือ วาดภาพดอกไม้หลายชนิด โดยเฉพาะกุหลาบ และกล้วยไม้พันธุ์ต่างประเทศ ที่สวยงามหายาก ทรงชี้แนะและวิจารณ์การวาดภาพของข้าหลวงให้ถ่ายทอดความสวยงามจากต้นแบบได้เป็นอย่างดี ในด้านการดนตรี ทรงอำนวยการบรรจุเพลงประกอบบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ เรื่องเงาะป่าได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์อย่างไร้ที่ติ นับได้ว่า ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่รอบรู้และมีพระปรีชาสามารถในด้านดนตรีอย่างยิ่งพระองค์หนึ่ง

           เมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักในสวนสุนันทานั้น ทรงเจริญพระชนมายุราว ๖๐ พรรษา มิได้ทรงงานต่างๆ ด้วยพระองค์เองมากมายดังกาลก่อน แต่จากการที่ทรงมีบุคลิกที่คล่องเคล่ว เยือกเย็น จึงมิได้ประทับอยู่เฉย  ทรงควบคุมข้าหลวงและมหาดเล็กให้ปฏิบัติงานต่างๆ ทั้งการปรุงอาหาร งานประดิษฐ์ดอกไม้ งานฝีมือ โดยมิเคยพักบรรทมกลางวันเลย สิ่งที่โปรดมากเป็นพิเศษคือ ไม้ดอกและไม้ใบพันธ์ต่างๆ ที่ทรงปลูกไว้ทั่วบริเวณ ดังนั้นจึงปรากฏอยู่เสมอว่า พระองค์มักจะเสด็จลงสวนช่วงบ่ายจนถึงค่ำ โดยมีข้าหลวงตามเสด็จ บางวันเสด็จไปถึงพระที่นั่งนงคราญสโมสร ซึ่งเป็นทั้งการออกพระกำลัง และทรงพักผ่อนด้วย

           พระวิมาดาเธอฯ ทรงพระสำราญในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพที่สวนสุนันทาแห่งนี้ ตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักที่ประทับเมื่อวันที่  ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒  สิริพระชนมายุได้ ๖๖ พรรษา

          พระตำหนักของพระวิมาดาเธอฯ ได้กลายเป็นศูนย์รวม ของพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทยถึงสองแผ่นดิน คือ ในรัชกาลที่ ๖ – ๗ โดยมี พระวิมาดาเธอฯ ทรงเป็นร่มโพธิ์ทองของชาวสวนสุนันทา ปัจจุบัน ตำหนักนี้ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นโบราณสถานของชาติ  และได้ใช้เป็นศูนย์เผยแพร่ความรู้และมรดกทางวัฒนธรรม หรือ “พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล”  เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป