หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > (วันนี้ในอดีต) ๑๗ ธันวาคม ๒๔๑๕ วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี
(วันนี้ในอดีต) ๑๗ ธันวาคม ๒๔๑๕ วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2023-05-16 12:00:10


ประสูติ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๑๕

 สิ้นพระชนม์ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๗๓ สิริพระชันษาได้ ๕๘ ปี

 พระคุณสมบัติพิเศษ ทรงเชี่ยวชาญด้านกาพย์กลอน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี เป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๗ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดามรกฎ มีพระอนุชา ๑ พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม องค์ต้นราชสกุล “เพ็ญพัฒน์ ณ อยุธยา” ผู้ทรงนิพนธ์ เพลงลาวดวงเดือน และ เพลงลาวปทุมมาลย์ ซึ่งเป็นเพลงอมตะนิรันดร์กาลของไทยนั่นเอง

พระปรีชาสามารถในด้านหนึ่งของเสด็จพระองค์หญิงก็คือ ทรงเชี่ยวชาญในทางกวีนิพนธ์ ฉันท์ กลอน เช่น ทรงร้อยเรียงนิราศหัวหินเมื่อครั้งเสด็จประพาสชายทะเลหัวหินในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ มีการโต้ตอบด้วยบทกลอนเป็นที่สนุกสนานยิ่งนัก งดงามทั้งวรรณศิลป์และมีความไพเราะ ภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิมพ์แทรกในหนังสืองานพระราชทานเพลิงของพระองค์ ซึ่งเป็นที่กล่าวขานยกย่องในแวดวงวรรณกรรม

ในรัชกาลที่ ๖ เสด็จพระองค์หญิงทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเฉลิมพระยศ ตามโบราณราชประเพณีเมื่อผลัดเปลี่ยนรัชกาลเป็น “พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี” วันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเฉลิมพระยศเป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี” เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ 

ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน วังสวนดุสิต เสด็จพระองค์หญิงยังคงประทับอยู่ต่อมาจนกระทั่งเมื่อพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ ในสวนสุนันทาได้สร้างแล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๖ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๒ หลังจากนั้นได้ทรงย้ายมาประทับที่สวนสุนันทาตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่ตำหนัก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพไปประดิษฐานที่หอนิเพททักษิณาในพระบรมมหาราชวัง 

ปัจจุบันตำหนักที่ประทับได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิม ใช้เป็นที่แหล่งเรียนรู้เรื่องดนตรี หรือ “ส่วนจัดแสดงดุริยศิลป์ แหล่งการเรียนรู้ ๓ ศิลป์รัตนโกสินทร์” และมีชื่อเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ตึกจุฑารัตนาภรณ์” หรือ ตึก ๔๕ 

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ ๗๕ ปี สวนสุนันทา

ภาพ : พัฒนฉัตร ชื่นเกษม