พระนามเดิม พระองค์เจ้ามัณฑนาภาวดี
ประสูติ วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๓๕
สิ้นพระชนม์ วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๑๕ สิริพระชันษาได้ ๘๐ ปี
พระคุณสมบัติ โปรดทางด้านหัตถศิลป์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดีเป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๗๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเหม ซึ่งเป็นธิดาของพระยาธรรมสารนิติวิชิตภักดี (พลับ อมาตยกุล) ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อแรกประสูติทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า “พระองค์เจ้ามัณฑนาภาวดี” ต่อมาภายหลังสมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงให้เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า “พระองค์เจ้าเหมวดี” เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๑ จะด้วยสาเหตุอันใดไม่อาจทราบได้ แม้แต่พระองค์เองก็ไม่ทราบ
เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารีซึ่งตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง โรงเรียนภาษาไทยกับพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว. หนู อิศรางกูร) และทรงเรียนภาษาอังกฤษกับ ม.จ. พิจิตรจิราภา เทวกุล หลังจากนั้นทรงศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยพระองค์เอง แต่เนื่องจากพระองค์ทรงมีพรสวรรค์ในงานช่างฝีมือมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงมีไหวพริบพระปฏิภาณเป็นเลิศเข้าทํานอง "ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” ส่วนหนึ่งทรงได้มาจากเจ้าจอมมารดาผู้ที่คิดค้นวิธีปรุงน้ำหอมชาววัง และอีกส่วนหนึ่งทรงได้มาจากบรรพชนของฝ่ายมารดา คือ พระยากษาปณกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ผู้มีความรู้ทางช่างเล่นแร่แปรธาตุ และเป็นช่างถ่ายภาพคนแรกของไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ ด้วย พระองค์ทรงโปรดงานฝีมือเช่น ทรงถักนิตติ้ง โครเชท์ และครอสติดช์ ทรงคิดค้นลวดลายแปลก ๆ อยู่เสมอ เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จประพาสแอฟริกาได้ทอดพระเนตรลูกไม้พันธุ์หนึ่งมีเปลือกเมล็ดแข็งได้ทรงนำมาแกะสลักเป็นรูปดอกไม้เข็มกลัดประดับเสื้อดูน่ารักดี หรือแม้แต่หินอ่อนก็ทรงแกะสลักเสลาเป็นกรอบรูปช่างงดงามนัก
นอกจากนี้เมื่อครั้งเสด็จฯ ประทับที่เกาะชวากับสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดลฯ ณ ตำหนัก “ดาหาปาตี” กับครอบครัวราชสกุลบริพัตร ทรงใช้เวลาว่างตัดรูปภาพจากหนังสือแมกกาซีนมาปิดลงบนแผ่นไม้อัด ทรงใช้เลื่อยตัดเป็นรูปต่อจิ๊กซอว์นับร้อยชิ้น เมื่อนำมาต่อกันเข้าจะได้ภาพที่สวยงามมาก หรือเมื่อครั้งประทับที่บ้านอรฉัตรที่หัวหิน พระองค์ทรงพระสำราญมากกับการใช้ชีวิตที่แวดล้อมด้วยชายหาด ทะเล หาดทรายขาวระยิบระยับเมื่อยามต้องแสงแดด ลมเย็นโชยระรื่น ทรงเก็บเปลือกหอยตามพื้นทรายนุ่มราวกับปูพรมแล้วนำมาประดิดประดอยเป็นรูปสัตว์ ดอกไม้ เข็มกลัด และศิลปะการถักทอลวดลายต่าง ๆ ลงบนปลอกหมอน ซึ่งถือว่าทรงเป็นผู้ต้นคิดในงานฝีมือชนิดนี้ จนกระทั่งมีผู้นำไปทำเลียนแบบจำหน่ายกัน กลายเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของหัวหินและสถานที่ท่องเที่ยวชายหาดทั่วไปในทุกวันนี้
ส่วนในเรื่องอาหารและขนม โปรดทำขนมไทยๆ เช่น ขนมปั้นสิบ ขนมหน้านวล และขนมจีบ เป็นต้น รวมถึงผลไม้แช่อิ่มก็ทรงบรรจุใส่กล่องที่ดูสะอาดสวยงามน่ารับประทาน ทั้งหมดนี้พระองค์ได้ทรงทําเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนและได้ส่งออกจำหน่ายยังร้านค้าต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตราบจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ
ภายหลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต ได้ทรงย้ายที่ประทับจากวังสวนดุสิตไปยังสวนสุนันทาประทับในตำหนักเดียวกับเจ้าจอมมารดาเหม และต่อมาเจ้าจอมมารดาได้ถึงแก่อสัญกรรมที่ตำหนักเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔ สิริอายุได้ ๗๔ ปี พระองค์เจ้าเหมวดีได้ประทับต่อมาตราบจนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงได้เสด็จไปประทับที่สวนนอก ณ วังถนนพิชัย แล้วจึงทรงตามเสด็จสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ ไปยังเกาะชวาเพื่อทรงเยี่ยมทูลกระหม่อมบริพัตรและครอบครัว ที่ทรงถูกมรสุมการเมืองกระหน่ำจนต้องระหกระเหินเสด็จนิราศยังต่างแดนพระองค์ประทับที่ตำหนัก “ดาหาปาตี” จนกระทั่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ สิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ จึงได้เชิญพระศพกลับมายังประเทศไทยหลังจากนั้นได้ทรงซื้อบ้านอรฉัตรที่หัวหินประทับนานถึง ๑๐ ปี ด้วยทรงพระสำราญเสด็จกลับกรุงเทพฯ เป็นครั้งคราวเฉพาะเมื่อมีพระราชพิธีสําคัญ ๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตำหนักที่ประทับในซอยมหาดเล็กหลวงถนนราชดำริ ประทานนามว่า “วังราชทัต” พระองค์เจ้าเหมวดีได้ประทับต่อมาตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่ตำหนัก
ส่วนตำหนักเดิมที่เคยประทับกับเจ้าจอมมารดาเหมในสวนสุนันทานั้น ปัจจุบันได้รื้อไปแล้วเนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปัจจุบันได้สร้างอาคารใหม่แทนที่เดิมใช้เป็นที่ทำการของวิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพและวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ตึกเหมวดีพิทักษ์” เพื่อเป็นพระอนุสรณ์รำลึกถึงพระองค์ หรือที่เรียกว่า “ตึก ๓๗”
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ ๗๕ ปี สวนสุนันทา
ภาพ : พัฒนฉัตร ชื่นเกษม