เจ้าจอมมารดาทิพเกษร เป็นธิดาของเจ้าสุริยะ ณ เชียงใหม่ (โอรสเจ้าหนานมหาวงศ์ ณ เชียงใหม่) กับเจ้าสุวัณณา ณ เชียงใหม่ (ธิดาในเจ้าอุตรการโกศล (น้อยมหาพรหม ณ เชียงใหม่)) ซึ่งทั้งสองเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์ทิพย์จักร
เจ้าอุตรการโกศล (น้อยมหาพรหม ณ เชียงใหม่) ซึ่งเป็นโอรสในพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนที่ ๕ และเป็นตาของเจ้าทิพเกษร ได้พาท่านเข้าเฝ้าถวายเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ ทรงตรัสเรียกว่า นางทิพ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าทิพเกษรเข้าศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของราชสำนักกรุงเทพฯ อยู่ในสำนักของเจ้าจอมมารดาแพ ผู้เป็นพระสนมเอกผู้ใหญ่ และยังโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยา นรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) เป็นผู้อภิบาลดูแลเจ้าทิพเกษร
เมื่อท่านมีประสูติการพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีฐานันดรศักดิ์เป็น เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาทรง "กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี" ผู้เป็น "เจ้าชายนักเศรษฐศาสตร์ของไทย" ครั้น พ.ศ. ๒๔๒๙ เจ้าจอมมารดาทิพเกษรก็ถูกจำหน่ายจากตำแหน่งเจ้าจอม ออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยรับซื้อและจำนองที่ดิน ทำให้ท่านมีตึกแถว และมีเรือกสวนไร่นาอีกหลายพันไร่ ถือเป็นเจ้าจอมที่ประกอบสัมมาอาชีพจนมีรายได้ด้วยตนเอง ภายหลังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดีให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะไม่มีกำลังพอที่จะดูแลมรดก
เจ้าจอมมารดาทิพเกษร ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัณโรคภายในเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๕[๑] และพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๐ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
แหล่งที่มา – วิกิพีเดีย
ภาพ : ดวงพร ตรีภพศรีสกุล