เจ้าจอมเอี่ยม
เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์
(เทศ บุนนาค)
อดีตสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี
และเจ้าเมืองเพชรบุรี ท่านผู้หญิงอู่
(สกุล "วงศาโรจน์" เป็นมารดา
มีพี่น้องร่วมมารดา ๑๔ คน
ท่านได้เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนมเอกในรัชกาลที่
๕ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๙ ในขณะมีอายุได้
๑๓ ปี
เจ้าจอมเอี่ยมมีพระเจ้าลูกเธอไม่เป็นองค์
๒ พระองค์ ท่านมีความสามารถพิเศษหลายอย่าง
นอกจากได้รับโปรดเกล้า ฯ
ให้จัดทำเครื่องพิเศษประเภทอาหารฝรั่งถวายแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ยังทรงแต่งตั้งให้ทำหน้าที่
"ถวายอยู่งานนวด"
ในเวลาเข้าที่พระบรรทมมาตลอดรัชกาล
เพราะว่าท่านรู้วิธีการนวดได้ดีกว่าใคร ๆ
ในราชสำนัก อีกทั้งมีรูปร่างใหญ่ แข็งแรง
มือหนัก
แม้กระทั่งเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปทรงให้มหาดเล็กถวายการนวด
ปรากฏว่าไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย
บรรทมไม่หลับ ถึงกับโปรดเกล้าฯ
ให้โทรเลขเปลี่ยนตัวผู้นวดมาเป็นเจ้าจอมเอี่ยม
ดังเช่นในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งที่มีไปถึงสมเด็จ
ฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
“...มหาดเล็กพูดอะไรก็ไม่เข้าใจ
เรียกเอาอะไรไม่ได้
จนลงเสี่ยงทายคืนนี้ว่าถ้านอนไม่หลับ
จะต้องทนเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
โทรเลขเข้าไปให้ส่งตัวนางเอี่ยมออกมา
ให้เขาลือกันว่าเปนบ้ากาม
ลือเสด็จกลับไปบางกอก
ให้เขาลือว่าจวนตายแล้ว ดีกว่าไปตายจริงๆ
เดือดร้อนเต็มที่ไม่มีความสุขเลย...”
นอกจากนี้ยังมีพระราชหัตถเลขาอีกฉบับหนึ่ง
ที่มีไปถึงสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เป็นเครื่องประจักษ์พยานว่าเจ้าจอมเอี่ยมนอกจากรู้หลักวิชาการนวดแล้วยังมีเรี่ยวแรงมากมหาศาลมากกว่ามหาดเล็กหลายเท่าตัว
"...ในเวลานี้
ความสุขทุกข์ในส่วนตัวว่าโดยย่อ
วันแรกดีมาก...
ได้รับความเดือดร้อนแต่เวลานอน
ตอนสัมพาหะแกหัดอ้ายลบให้นวด
งอก่อเหมือนแกดูอาการราวกับจะยกเขาพระสุเมร
เหน็ดเหนื่อยนี่กะไร
แต่เราวางมือไม่ได้...
คิดถึงนางเอี่ยมกับนางเหม
(เจ้าจอมมารดาเหม-ผู้เขียน) เต็มที
เรี่ยวแรงถ้าจะเทียบเท่าผู้ชายชนิดนี้ ๘
คน เท่าแรงหมอนวดแท้ ๑๖ คน
การมันประหลาดเช่นนี้
จะเชื่อว่าผู้หญิงแรงกว่าผู้ชายหรือไม่ก็ตามแต่จะเห็น..."
ภายหลังจากพระที่นั่งและตำหนักต่าง
ๆ ในสวนสุนันทาได้สร้างแล้วเสร็จ
เจ้าจอมเอี่ยมได้ย้ายถิ่นพำนักจากวังสวนดุสิตมายังสวนสุนันทาพร้อม
ๆ กับเจ้าจอมพี่น้องก๊ก ๕ ออ
เรือนของท่านจะอยู่ทางทิศเหนือติดถนนราชวิถี
ตั้งอยู่ระหว่างเรือนของเจ้าจอมอาบและเจ้าจอมแส
ซึ่งเป็นน้องสาวต่างมารดา
เรือนเก่าของท่านที่เคยพำนักได้ถูกสะเก็ดระเบิดเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่
๒
ปัจจุบันได้รื้อสร้างใหม่เป็นอาคารสำนักงานแทนที่
ขอบคุณข้อมูลจาก
: หนังสือที่รำลึก ๗๕ ปี
สวนสุนันทา
ภาพ : พัฒนฉัตร
ชื่นเกษม