กิจกรรมในวันสุดท้ายของงาน “สายสวลีย์ภิรมย์ ใต้ร่มโพธิ์ทอง เกียรติขจรพระบารมี ๑๖๐ ปี แห่งพระประสูติกาล” ณ พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นกิจกรรมเสวนาวิชาการที่เกี่ยวข้องใน เรื่อง พระราชนิพนธ์ “เงาะป่า” กับสำนักพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2449 ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชวรไข้มาลาเรีย ในระหว่างพักฟื้น ได้พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องเงาะป่า โดยทรงบอกกลอนเหล่านั้นด้วยพระโอษฐ์เปล่ามาที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เป็นผู้จดถวาย แล้วพระราชทานลงมาให้วงดนตรีของสำนักพระวิมาดาเธอฯ บรรจุเพลงบรรเลงและขับร้อง โดยพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และได้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เป็นนักร้องต้นเสียง ตลอดจนการถ่ายทอดแนวทางการร้องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกิจกรรมเสวนาวิชาการในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๖ ในช่วงแรกเป็นการแสดง “รำฉุยฉายฮเนา” การร่ายรำของฮเนาที่แต่งตัวเป็นเจ้าบ่าว เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีแต่งงานกับนางลำหับ ได้รับเกียรติจาก ดร.ธีรเดช กลิ่นจันทร์ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้แสดง และในกิจกรรมถัดมาคือ เสวนาวิชาการ เรื่อง พระราชนิพนธ์ “เงาะป่า” กับสำนักพระวิมาดาเธอฯ” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ พูนพิศ อมาตยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรีไทย เป็นผู้ถ่ายทอด และปิดท้ายกิจกรรมสุดท้ายของงานด้วยการนำชมนิทรรศการ “สายสวลีภิรมย์ ใต้ร่มโพธิ์ทอง เกียรติขจรพระบารมี ๑๖๐ ปี แห่งพระประสูติกาล” และกิจกรรมสาธิตอาหาร “สะเต๊ะลือ” สาธิตงานฝีมือชาววัง “เครื่องหอม” และการจำลองการเขียนภาพวาดสีน้ำของคุณข้าหลวงในพระวิมาดาเธอฯ ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาวิชาการ