หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > เกร็ดประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา : เอตทัคคะทางด้านการทำอาหาร (ตอนที่ ๓/๗)
เกร็ดประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา : เอตทัคคะทางด้านการทำอาหาร (ตอนที่ ๓/๗)

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2024-07-16 11:47:34

พระวิมาดาเธอฯ ประสูติในราชสกุลวงศ์ จึงทรงได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดีตามแบบอย่างกุลสตรีในยุคสมัยนั้น เมื่อทรงเจริญพระวัยและได้รับการสถาปนาเป็นพระอัครชายาเธอ ได้ทรงพัฒนารูปแบบการประกอบอาหารและงานประดิษฐ์ต่างๆ ให้หลากหลายและวิจิตรบรรจงมากขึ้น จนได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น “เอตทัคคะทาง ด้านการทำกับข้าว” และได้ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ ในหน้าที่กำกับดูแลห้องเครื่องต้นถวายพระพุทธเจ้าหลวง 

.

ในการดูแลห้องเครื่องต้น พระวิมาดาเธอฯ ได้ฝึกให้หม่อมเจ้าหญิงลูกๆหลานๆ มีหน้าที่ในห้องพระเครื่องต้นไทย แบ่งฝ่ายกันดูแผนกยำ แผนกคาวหวาน แยกกันไป พะวิมาดาเธอฯ ได้ปรุงแต่งรสชาติ ค้นคิดและดัดแปลงชนิดของพระกระยาหารให้มีความหลากหลาย รวมทั้งการจัดแต่งให้สวยงามเมื่อจะเทียบโต๊ะเสวย 

.

พระกระยาหารที่ทรงทำถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ทรงทำสนองพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดี เช่นเดียวกับที่ทรงทำถวายพระโอรสและพระธิดา สำหรับพระองค์เองแล้วอย่างไรก็เสวยได้ เล่ากันว่า เมื่อคราวหนึ่งทรงซื้อเงาะ ๑๐๐ ผล ราคา ๑๐๐ บาท เพื่อที่จะคว้านเงาะตั้งเครื่องเสวยให้สมเด็จพระธิดาทุกพระองค์ ส่วนเครื่องเสวยของพระองค์เองไม่โปรดให้มีเงาะผลละ ๑ บาท เพราะแพงเกินไป ทรงรับสั่งว่า " ขอให้ลูกให้ผัวสุขสบายก็เป็นที่พอใจแล้ว " พระกระยาหารก็เหมือนกัน ข้าวเสวยของพระองค์เองโปรดอย่างข้าวกรากร่วงพรู ( ข้าวธรรมดา ) ส่วนพระกระยาหารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้าวเสวยของสมเด็จพระธิดาทุกพระองค์ นุ่มเหมือนกันหมด ผลไม้ก็โปรดที่จะปอกเสวยเอง ไม่ต้องคว้านเหมือนกับอย่างเครื่องต้น จนเมื่อทรงพระชราจึงทรงให้คนอื่นปอกถวายและเงาะก็เปลี่ยนมาเป็นการคว้าน 

.

ทรงพิถีพิถันในเรื่องเครื่องต้นที่จะตั้งถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างยิ่ง ต้องทั้งสะอาด ปลอดภัย สวยงาม และมีรสชาติที่อร่อยด้วย ทรงระวังรอบคอบแม้ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทรงจัดผลไม้ทั้งผลลงในภาชนะ ถ้าจะต้องใช้ใบไม้รอง จะทรงเลือกใบไม้หรือดอกไม้ที่ทานได้ เช่น ใบเล็บครุฑ ใบมะม่วง ใบชมพู่ เพราะว่าในใบไม้บางชนิดอาจมียางหรือสิ่งที่เป็นพิษแก่มนุษย์ที่จะเข้าไปโดยไม่ทันรู้สึกตัว จึงทรงงดเว้นโดยเด็ดขาด

.

และสวนสุนันทาแห่งนี้เองที่เป็นแหล่งกำเนิด น้ำพริกลงเรือ อันลือชื่อ ซึ่งเป็นอาหารชั้นหนึ่งของไทย ในเรื่องนี้ หม่อมราชวงศ์ สุมาลย์มงคล โชติกเสถียร ได้กล่าวถึงชื่อน้ำพริกลงเรืออันมีประวัติมาจากท่านมารดาเล่าว่า เริ่มมาจาก สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล กรมหลวงอู่ทองเขตรขัตติยนารี กับพระวิมาดาเธอฯ มีพระประสงค์จะทรงเรือเล่นในสระสวนสุนันทาซึ่งร่มรื่น จึงมีพระราชประสงค์กับเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ ๕ ว่าอยากจะมีพระกระยาหารไปกับเรือด้วย ซึ่งทางเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับก็ได้คิดทำน้ำพริกลงเรือนี้ขึ้น และปรากฏเป็นที่ถูกพระทัยและถูกปากของผู้ที่โดยเสด็จโดยทั่วกัน จึงได้ขอตำราทำกันต่อๆมา

.

พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ทรงกำกับห้องพระเครื่องต้น ทั้งในพระบรมมหาราชวัง และที่พระราชวังดุสิต จนถึงช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชสำนักย้ายมาอยู่ที่พระราชวังดุสิตเกือบจะเป็นการถาวร ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ได้สนองพระเดชพระคุณ ตลอดแผ่นดินจนสิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว