หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > เกร็ดประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา : ผู้ก่อตั้งโรงเลี้ยงเด็ก รากฐานกรมประชาสงเคราะห์ของไทย (ตอนที่ ๕/๗)
เกร็ดประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา : ผู้ก่อตั้งโรงเลี้ยงเด็ก รากฐานกรมประชาสงเคราะห์ของไทย (ตอนที่ ๕/๗)

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2024-07-16 13:49:35

พระกรณียกิจที่สำคัญของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ที่นับว่าทรงมีคุณูปการต่อสังคมไทยโดยเฉพาะเด็กจรจัดผู้ยากไร้ หรือเด็กกำพร้าพ่อแม่ นั่นก็คือ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ ทรงเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งโรงเลี้ยงเด็กแห่งแรกในประเทศไทย ที่ตำบลสวนมะลิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “ โรงเลี้ยงเด็กพระอัครชายาเธอ ” เพื่อให้การช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้า เด็กยากจนให้มีความประพฤติดี มีวิชาความรู้ที่จะประกอบอาชีพได้ในอนาคต ทรงรับเลี้ยงเด็กชายหญิง ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่ง อายุ ๑๑ ปี สำหรับเด็กหญิง และ ๑๓ ปี สำหรับเด็กชาย เด็กดังกล่าวจะได้รับการดูแล เป็นอย่างดีทั้งด้านอาหารและ เครื่องนุ่งห่ม การรักษาพยาบาล ที่พำนักหลับนอนโดยผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด จนกระทั่งอายุครบตามกำหนดพอที่จะประกอบอาชีพได้ โรงเลี้ยงเด็กก็จะคืนเด็กให้กับผู้ปกครอง พระกรณียกิจนี้ถือเป็นรากฐานของกิจการกรมประชาสงเคราะห์ในปัจจุบัน

ในเรื่องการฝึกอบรมกิริยามารยาท และคุณสมบัติของการกุลสตรีนั้น พระวิมาดาเธอฯ ทรงสั่งสอนอบรมผู้อื่นให้สนใจ และหมั่นฝึกฝนในกิจการ และคุณสมบัติ อันเป็น กุลสตรี ทรงเคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผน และกวดขันในเรื่องจรรยามารยาทด้วย ทรงประทานการศึกษาในวิชาความรู้ และการฝีมือพร้อมทั้งอบรมจริยามารยาทให้เรียบร้อยสมกับความเป็นกุลสตรีที่แท้จริง 

.

......จนเป็นที่เลื่องลือในยุคนั้นว่า กุลธิดาที่ได้ผ่านเข้ามาอยู่ในตำหนักพระวิมาดาเธอ ฯ แล้ว เป็นต้องได้รับการอบรม ให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ สมแก่ความเป็นกุลสตรี โดยเหตุนี้ บรรดาบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ และผู้มีศักดิ์มีสกุลทั้งปวงในยุคนั้นจึงนิยมส่งธิดาเข้าไปถวายตัวให้ทรงชูชุบอุปถัมภ์เป็นจำนวนมาก แม้พระบรมวงศ์ซึ่งดำรงเกียรติอันสูงส่ง เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ได้ส่งพระธิดาไปถวายให้พระวิมาดาเธอฯ ทรงอุปถัมภ์บำรุงและอบรมสั่งสอน ถึง ๒ พระองค์

.

สำหรับ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้า กรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารีนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ไปศึกษาตามโรงเรียน เพราะไม่มีพระราชนิยมให้ พระราชธิดา ออกไปทรงศึกษานอกพระบรมมหาราชวัง แต่ก็ได้ทรงหาครูและอาจารย์ทั้งไทยและเทศ ให้เข้ามาทรงถวายพระอักษรพระราชธิดาทุกพระองค์ และแต่ละพระองค์ก็ทรงคุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศ ตลอดจนทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านภาษาไทยอย่างสูง มีเจ้านายหลายพระองค์ที่ทรงกระทำหน้าที่เป็นราชเลขานุการินีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งสุดท้าย ได้มีพระราชหัตถเลขาประทานสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองฯอยู่ตลอดเวลา จนสามารถรวบรวมเป็นหนังสือเล่มใหญ่ ได้ถึงสองเล่ม ชื่อว่า “ไกลบ้าน” นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่าที่น่าศึกษามากเล่มหนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองทรงมีพระวิริยะมาก และโปรดให้เด็กของท่านได้อ่านหนังสือและทำการฝีมือโดยไม่นั่งอยู่เฉยๆ ท่านยังทรงสอนให้อ่านภาษาบาลีให้ถูกต้องด้วย ทรงฝักใฝ่ในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก ข้าหลวงบางคนถูกส่งไปเรียนวิชาพยาบาล

.

นอกจากนั้นยังทรงตั้งโรงเรียนประถมศึกษา ขึ้นบริเวณพระตำหนักสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา โรงเรียนนี้มีชื่อว่า “โรงเรียนนิภาคาร” เพื่อให้การศึกษาแก่บรรดาข้าหลวงทั้งหลาย หลักการเช่นเดียวกับโรงเลี้ยงเด็กคือ ผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ การเรียน ฯลฯ แต่อย่างใด ทรงสอนจนนักเรียนจบชั้นมัธยมหกเป็นรุ่นแรก ทั้งยังทรงเคร่งครัดในเรื่องการเรียนภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง อาทิ การออกเสียงตัว “ร” ตัว “ล” คำควบกล้ำ รวมทั้งการใช้คำสันทาน คำบุพบทให้ถูกต้อง ส่วนภาษาอังกฤษได้ทรงจ้างหญิงสาวเป็นแหม่ม ครึ่งชาติชื่อ Miss Archer ภายหลัง Miss Archer ทำการสมรสและไปเมืองนอก จึงได้ทรงจ้างครูฝรั่งแท้ ชื่อ Miss Pope มาสอน เมื่อได้ชั้น ๖ แล้ว ก็ทรงเลือกนักเรียนเก่ง ไปสอบที่โรงเรียนสายปัญญา ถ้าสอบได้ก็ทรงทำเข็มกลัดแจกเป็นรางวัลแก่ผู้สอบได้

.

ในยามหัวค่ำก็โปรดฯให้ข้าหลวงรุ่นเด็กทั้งหมดเข้าแถวต่อหน้าพระพัตร์ สวดมนต์ทำนองสรภัญญะ โดยพระองค์จะประทับที่บนตั่ง ในขณะที่ข้าหลวงทั้งหมดยืนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบหันหน้าเข้าหาพระองค์ นับเป็นวิธีกล่อมเกลาจิตใจด้วยการน้อมนำเข้าสู่พระพุทธศาสนาและฝึกการออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้องเหมาะสม

.

พระวิมาดาเธอฯ ทรงกวดขันทางวาจามาก สำหรับพระองค์เองไม่ปรากฏว่าเคยล้อหลอกใคร ไม่เสียดสี ไม่โปรยประโยคเพ้อเจ้อ ไม่หยาบคะนอง ทรงตั้งอยู่ในกรมบทสิบข้ออย่างแน่วแน่ สำหรับผู้อื่นก็ทรงกวดขันในเรื่องการใช้วาจามาก เช่น จะพูดถึงสิ่งที่มาก นับจำนวนไม่ได้ จะพูดเยอะแยะไม่ได้ สมัยนั้นมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เกิดขึ้นแล้ว ถ้าทรงได้ยินใคร เรียกว่าโรงพยาบาลจุฬาเฉยๆ จะกริ้วทันที ต้องพูดให้หมดว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การไปที่ใด เมื่อถามก็ต้องตอบชื่อ สถานที่ไปให้เต็ม

ภาพ: สาลินี บุญสมเคราะห์