ในยามว่างเว้นจากพระภารกิจ ในช่วงบ่ายถึงค่ำ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา จะทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรไม้ดอกต่างๆ ด้วยความสนพระทัย โดยมีข้าหลวงและมหาดเล็กร่วมด้วย อาทิ ผู้เชิญพระกลด หีบหมากเสวย ซับพระพักตร์ บ้วนพระโอษฐ์ และในทุกๆเช้าโปรดให้ข้าหลวงในพระองค์ วาดรูปดอกไม้ที่ทรงปลูกไว้ให้เหมือนจริงมากที่สุด พร้อมระบายสีน้ำ โดยเฉพาะดอกกล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ แล้วจึงนำขึ้นถวายทอดพระเนตร ถ้าทรงเห็นว่ายังวาดไม่งามเหมือนของจริงก็จะทรงปล่อยให้วาดต่อไป จนกว่าจะพอพระทัย ข้าหลวงที่มีฝีมือเช่นคุณข้าหลวงอมร รัตติชุณห์โชติ โดยพระองค์จะทรงชี้แนะและวิจารณ์เพื่อให้แต่ละภาพ เป็นเช่นต้นแบบตามธรรมชาติทั้งรูปทรงและสีสัน ภาพวาดเหล่านี้ เท่าที่รวบรวมได้ในปัจจุบันมีจำนวน ๑๓๑ ภาพ โปรดให้ข้าหลวงวาดตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ เป็นต้นมา ยังเก็บรักษาไว้ที่ตำหนักพระวิมาดาเธอฯ
.
จากการสืบค้นเกี่ยวกับชีวประวัติของคุณข้าหลวงอมรยังไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่า คุณข้าหลวงอมรเป็นข้าหลวงในพระวิมาดาเธอฯ มีหน้าที่ในการเขียนภาพสีน้ำรูปดอกไม้ตามพระประสงค์ของพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งพระองค์ท่านทรงโปรดปราน และทรงให้ปลูกต้นไม้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ใบ หรือ ไม้ผล ดังบันทึกมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาว่า พระวิมาดาเธอฯ ยังโปรดให้บันทึกภาพดอกไม้ทุกดอกทุกชนิดในสวนสุนันทาไว้โดยการวาด ผู้ที่มีหน้าที่เขียนภาพสีน้ำรูปดอกไม้ดังกล่าวทุกเช้าคือ คุณข้าหลวงอมร รัตติชุณห์โชติ์ การเขียนภาพจะต้องเขียนให้เหมือนจริงทั้งสีและรูปทรงของดอกไม้จึงจะเป็นที่พอพระทัย ดังที่ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า “ถ้าพระวิมาดาฯ ประทับในสวนตอนเช้า ก็ให้เขียนภาพดอกไม้กำลังบาน ถ้าประทับอยู่ในวังแต่ละวันฉันต้องนั่งอยู่ปลายพระบาทมีหน้าที่วาดรูป ถ้าวาดไม่สวย ไม่เหมือน ไม่ถูกพระทัยก็ต้องวาดใหม่จนกว่าจะพอพระทัย... เขียนรูปภาพ ดอกไม้ ต้นไม้ จนเป็นโรคลำไส้ จบแผ่นหนึ่งๆ ต้องเอาไปถวายให้ทอดพระเนตร ถ้าไม่เหมือนก็ต้องเขียนใหม่”
.
นอกจากคุณข้าหลวงอมร รัตติชุณห์โชติ์แล้วปรากฏชื่อของผู้ที่เขียนภาพสีน้ำดอกไม้ในสวนสุนันทาที่จารึกกำกับใต้ภาพอีกหลายท่าน ได้แก่ คงจรัณยานนท์ จวง เฉลิม เชื่อ เปรื่อง (เพาะช่าง) เพียว ท. แก้วศิริ โพธิ์ เฟื้อม สุดจิตร์ สุวรรณ์ พูลพิทักษ์ เส็ง เสงี่ยม เสนอ อำภาร์ เปลื้อง และชื่อซึ่งเป็นนามแฟงของคุณข้าหลวงอมร รัตติชุณห์โชติ์ คือ ม.ร. และมอญ
.
คุณข้าหลวงมอญวาดภาพอยู่ตลอดชีวิตที่ พระวิมาดาเธอฯ เสด็จอยู่ คุณข้าหลวงมอญศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ไม่เคยศึกษาเรื่องการวาดรูป แต่ก็สามารถวาดภาพได้อย่างสวยงาม เมื่อพระวิมาดาเธอฯ ทรงเห็นดอกไม้เห็นว่าสวย จะเรียกคุณข้าหลวงให้มาวาดทันที ต้องวาดจนสวย และเหมือนของจริง บางทีดอกเดียวต้องเขียนถึง ๑๐ แผ่น เขียนรูปได้อ่อนช้อยเส้นสวยงาม บางครั้งก็ไปเขียนที่เรือนกล้วยไม้ ซึ่งมีโต๊ะกลม มีที่นั่ง บางครั้งก็ไปเสวยน้ำชาที่เรือนกล้วยไม้เลย บางครั้งก็ลงมาชมดอกไม้ถึงสองยามตีหนึ่ง
.
ภาพเขียนสีน้ำเหล่านี้ใช้เทคนิคสีน้ำถ่ายทอดความงามในลักษณะเหมือนจริง (Realistic) ถ้าใครได้ดูต่างก็ชื่นชมในฝีมือ เพราะผลงานเหล่านี้เกิดจากความอุตสาหะวิริยะของผู้ที่มิได้เรียนศิลปะมาโดยตรง หากแต่สามารถวาดภาพได้สวยสดงดงาม และในภาพแต่ละภาพจะระบุชื่อของดอกไม้ไว้เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วยลายมือ มีวันเดือนปี และลายเซ็นผู้วาดภาพระบุไว้ด้วย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่มีบางภาพไม่ปรากฏข้อมูลดังกล่าวชัดเจน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากการเลือนรางหายไปเนื่องจากภาพเหล่านี้มีอายุร่วม ๑๐๐ ปีมาแล้ว