หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > เกร็ดประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา : ช่วงสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ (ตอนที่ ๗/๗)
เกร็ดประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา : ช่วงสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ (ตอนที่ ๗/๗)

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2024-07-16 14:04:43

ในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ  พระวิมาดาเธอฯ ทรงประชวรด้วยโรคมะเร็งในพระโอษฐ์  ต้องทรงพักรักษาพระองค์เป็นเวลานาน เป็นที่ห่วงใยของพระบรมวงศานุวงศ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้เสด็จเยี่ยมที่พระตำหนักทุกวัน และโปรดให้หลวงนิตยเวชวิศิษฐ์ เป็นแพทย์ผู้ถวายการรักษา 

พระตำหนักของพระวิมาดาเธอฯ ได้กลายเป็นศูนย์รวม ของพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทยถึงสองแผ่นดิน คือ ในรัชกาลที่ ๖ – ๗  โดยมี พระวิมาดาเธอฯ ทรงเป็นร่มโพธิ์ทองของชาวสวนสุนันทา ตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักที่ประทับเมื่อวันที่  ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒  สิริพระชนมายุได้ ๖๖ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาสรงน้ำพระศพ  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม  ให้เชิญพระศพประดิษฐาน  ณ  พระที่นั่งนงคราญสโมสร  พระกรุณาพระราชทานพระโกศทองน้อยทรงพระศพ  และเมื่อถึงงานพระราชทานเพลิงศพ  ก็ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระโกศทองใหญ่ ซึ่งโดยราชประเพณีใช้สำหรับทรงพระบรมศพ สมเด็จ พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีเท่านั้น  มาทรงพระศพ ในการพระราชกุศลออกพระเมรุและในการเชิญพระศพ สู่พระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง นับเป็นการถวายพระเกียรติยศ สูงยิ่งกว่าพระอัครชายาทั้งปวง 

เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ลดาวัลย์ ได้กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายพระเกียรติแก่พระศพ พระวิมาดาเธอฯ สูงกว่าที่พระมเหสีชั้นอัครชายาเคยได้รับ พระศพที่ทรงพระโกศทองน้อย เมื่อเวลาประดิษฐาน และทรง พระโกศทองใหญ่เวลาออกพระเมรุนี้ อยู่ในระดับสมเด็จเจ้าฟ้า ที่ร่วมพระชนนีเดียวกันกับพระเจ้าแผ่นดินทีเดียว”  “แน่ละ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมทรงตระหนักใน พระราชหฤทัยว่า พระวิมาดาเธอฯ ทรงมีความสวามิภักดิ์ต่อเบื้อง พระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิราชของพระองค์ อย่างยิ่ง ดังนั้นจึงถวายพระเกียรติแก่พระศพอย่างสูง และขณะ เมื่อท่านยังดำรงพระชนม์อยู่  ก็ได้ถวายพระเกียรติให้เป็นที่ ประจักษ์โดยได้ทรงสถาปนาพระอิสริยยศให้สูงขึ้นเป็น กรมพระ   และถวายสร้อยพระนามกรมว่า  ปิยมหาราช ปดิวรัดา  ซึ่ง หมายความว่า  ทรงเป็นพระมเหสีที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช 

ส่วนตำหนักนี้ ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นโบราณสถานของชาติ  และได้ใช้เป็นอาคารของศูนย์มรดกทางวัฒนธรรม หรือ “พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล”  เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

ภาพ: สาลินี บุญสมเคราะห์