สำนักศิลป์อบรมทำอาหารชาววัง “น้ำพริกลงเรือ” So in Love with Cooking by Chef In
เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ มีนาคมที่ผ่านมา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกับกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการสร้างองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกับชุมชน ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบของนิทรรศการอาหารชาววัง: น้ำพริกลงเรือ และการจัดกิจกรรมอบรมการปรุงอาหารชาววัง “น้ำพริกลงเรือ” วิทยากรโดย นายณรงค์ฤทธิ์ แซ่ขอ (อิน) Tiktoker ชื่อดังด้านอาหาร และเจ้าของเพจ Facebook อินกำลังอิน ณ ร้าน In Love Bar & Restaurant โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.พีระพล ชัชวาลย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน
อาจารย์ ดร.พีระพล ชัชวาลย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนศักดิ์ ผดุงเศรษฐกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและกิจกรรม กล่าวว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ เป็นการสร้างความตระหนักรู้ด้านวัฒนธรรมทางอาหารและอาหารชาววังสวนสุนันทา การนำองค์ความรู้เรื่องอาหารชาววังสวนสุนันทาเผยแพร่สู่ชุมชน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้และบูรณาการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมทางอาหาร เพื่อเป็นการสร้างเสริมรายได้ ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่อาหารไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น
สำหรับกิจกรรมในช่วงแรกเป็นการนำชมนิทรรศการ “พินิจสำรับชาววังสวนสุนันทา” เสน่ห์ปลายจวัก ศาสตร์แห่งกุลสตรี วัฒนธรรมด้านอาหารที่เกิดขึ้นในพระราชวังของชนชั้นสูง ที่ต้องใช้ความละเอียดลออและพิถีพิถันในการสร้างสรรค์สำรับอาหาร ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ต้องอาศัยศิลปะในการผลิต เป็นทั้งอาหารปากและอาหารตา ได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอดของอาหารไทย โดยนายชนะภพ วัณณโอฬาร ภัณฑารักษ์ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม และในช่วงที่สองการอบรมเชิงปฏิบัติการ “น้ำพริกลงเรือ” โดย ณรงค์ฤทธิ์ แซ่ขอ (อิน) เป็นวิทยากร พร้อมกับ นายชนะภพ วัณณโอฬาร ร่วมให้ความรู้และข้อเสนอแนะแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้ง ๒๐ ท่านในการปรุงอาหารอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้รับความรู้ เรื่องประวัติความเป็นมาของ “น้ำพริกลงเรือ” เกร็ดความรู้ในการปรุงอาหาร การเลือกใช้วัตถุดิบ และเทคนิคต่าง ๆ ที่จะทำให้อาหารมีรสชาติที่อร่อย สวยงาม และน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
การจัดกิจกรรมโครงการดังกล่าว ผู้เข้าร่วมทุกท่านได้รับความรู้ในการทำน้ำพริกลงเรือ ในตำรับพระวิมาดาเธอฯ ร่วมกับวิทยากรกันอย่างสนุกสนาน สำนักศิลป์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการสร้างองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกับชุมชน โดยการนำความรู้ด้านอาหารชาววังสู่ชุมชนจะเป็นต้นทางสำคัญให้ศิลปวัฒนธรรมสวนสุนันทามีความใกล้ชิดกับชุมชนรอบมหาวิทยาลัยมากขึ้นอีกด้วย