จำปาดอง ศาสตร์แห่งศิลป์ที่กลับมีชีวิต ณ พิพิธภัณฑ์สายสุทธาฯอัลบั้มจำปาดอง
ศาสตร์แห่งศิลป์ที่กลับมีชีวิต ณ พิพิธภัณฑ์สายสุทธาฯ
ศาสตร์แห่งการทำจำปาดอง เป็นศาสตร์ชั้นสูงที่มีการทำกันเฉพาะในพระราชวัง เพราะในอดีตนั้นดอกจำปาเป็นดอกไม้ของเหล่าเจ้านาย ฝ่ายในจะใช้ดอกจำปากรองดอกไม้เข้าอุบะ ตุ้งติ้งทำเชิงม่านตะข่ายดอกไม้สด
การทำจำปาดองเริ่มเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 ได้นำดอกจำปาที่มีอยู่จำนวนมากในเขตวังหลวง มาจัดเรียงลงโถแก้ว และคัดสรรเฉพาะดอกที่สวยงาม สมบูรณ์ นำมาดองไว้ 1 เดือน เพื่อถวายให้กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ เนื่องในงานฉลองวันคล้ายวันประสูติ และด้วยเวลาที่ผ่านไป 1 เดือน รูปทรงสีสันของดองไม้ยังคงเดิม ไม่เน่าเสีย จึงทำให้บรรดาเจ้านายทั้งหลายต่างชื่นชอบ และนิยมดองถวายเป็นพุทธบูชา จำปาดองจึงถือเป็นศาสตร์ชั้นสูง ที่น้อยคนนักจะดองได้นานหลายปีโดยที่ไม่เน่าเสียก่อน
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดกิจกรรมอบรม การทำจำปาดอง เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูศาสตร์แห่งศิลป์ ให้กลับมีชีวิตอีกครั้ง โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ศิริภัสสร โชควศิน ผู้เชี่ยวชาญงานช่างฝีมือในวัง ซึ่งผู้เข้าอบรม ได้เรียนรู้ตั้งแต่วิธีการเลือกดอกไม้ การต้มน้ำสำหรับใช้ในการดอง เคล็ดลับ และเทคนิคต่าง ๆ สำหรับการดองเพื่อไม่ให้ดอกไม้เน่าเสีย นอกจากนี้ ผู้เข้าอบรมยังได้เรียนรู้ ศาสตร์การพับบัวแบบราชสำนัก ถึง 6 แบบด้วยกัน อาทิ แบบพุตตาน แบบพิกุล แบบทานตะวัน แบบกุหลาบ 2 แบบ และแบบมะลิ
สำนักศิลป์ขอขอบพระคุณผู้ร่วมลงทะเบียนอบรม ที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูงานดอกไม้แห่งราชสำนัก ซึ่งสำนักศิลป์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้อบรมได้เข้าใจถึงบริบทของงานหัตถศิลป์ชาววัง อันเป็นการสร้างความรักษ์ จิตสำนึก และความหวงแหน อันจะก่อเกิดให้การรักษาวัฒนธรรมไทยไว้ได้อย่างยั่งยืน