ทีมบริหารสำนักศิลป์ประชุมบุคลากร มอบนโยบายการปฏิบัติงาน ปี 64
ทีมผู้บริหารสำนักศิลปะและวัฒนธรรม นำโดย อาจารย์ ดร.พีระพล ชัชวาลย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม , อ.กรีธา ธรรมเจริญสถิต รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและแผนงาน , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนศักดิ์ ผดุงเศรษฐกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและกิจกรรม และ อาจารย์ ดร.นันทิดา โอฐกรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และความร่วมมือ ประชุมบุคลากรสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ครั้งที่ 1 ในวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 9.00-14.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารสายสุทธานภดล เพื่อมอบนโยบายการปฏิบัติงานด้านศิลปวัฒนธรรม ประจำปี 2564 ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
การก้าวเข้าสู่วงการวิชาการระดับประเทศ
ทีมผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่จะนำสำนักศิลปะฯ เข้าสู่วงการวิชาการระดับประเทศด้วยการจัดประชุม Conference และเปิดรับงานวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรมทั่วประเทศ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิชาการผ่านวารสารสำนักศิลปะและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา การประชุมวิชาการนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างชื่อเสียงและความเข้มแข็งด้านงานวิจัยให้กับมหาวิทยาลัย รวมถึงได้การเป็นแหล่งเผยแพร่บทความวิจัยให้กับนักวิจัยทั่วประเทศได้อีกด้วย
มุ่งหาภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็ง
ผู้บริหารสำนักศิลปะและวัฒนธรรมตั้งเป้าที่จะมุ่งหากลุ่มภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพิพิธภัณฑ์และมรดกทางวัฒนธรรมของสวนสุนันทาให้มากขึ้นโดยมีแนวคิดจากการพาเที่ยว (Tour) หรือการเป็นตัวแทนจัดการด้านท่องเที่ยว (Agency) ให้กับหน่วยงานและกลุ่มที่ต้องการศึกษาและเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของไทย เช่น การดูแลนักศึกษาต่างชาติ การศึกษาและหาความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น
ยกระดับพิพิธภัณฑ์ให้เข้าถึงได้ง่ายและทันสมัย
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มีความโดดเด่นในด้านพิพิธภัณฑ์ที่มีประวัติความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน รวมทั้งมีสถาปัตยกรรมที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ผู้บริหารจึงมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ให้มีความสะดวก โดยผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับศิลปวัฒนธรรม ทำให้เนื้อหาทันสมัยน่าสนใจ มีความหลากหลาย ที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เยี่ยมชมในยุคปัจจุบัน โดยในขณะนี้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้มีความร่วมมือกับ Google ซึ่งกำลังดำเนินงาน “Google Arts&Culture” แอปพลิเคชั่นที่รวบรวม พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ กว่า 2,000 แห่ง จาก 80 ประเทศ ทั่วโลก โดยการนำพิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดลเข้าสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ (Digital Museum) ผู้เข้าชมสามารถชมพิพิธภัณฑ์ได้จากทุกที่เพียงปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งความร่วมมือนี้ถือเป็นการยกระดับการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์สู่ประชาคมโลกอีกทางหนึ่ง