พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ตอนที่ ๑๖ : ๑ พฤษภาคม วันสถาปนากองเสือป่าแห่งกรุงสยาม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงมีแนวพระราชดำริที่จะจัดตั้งหน่วยงานอิสระ ในลักษณะกองอาสารักษาดินแดนตามแบบที่ได้ทรงพบเห็นมาแต่ครั้งทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ โดยก่อนที่จะทรงจัดตั้งกองเสือป่าอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทดลองฝึกหัดทหารมหาดเล็กจำนวนหนึ่งที่วังสราญรมย์ตามแบบอย่างที่มีพระราชประสงค์ เป็นลักษณะของการซ้อมรบทั้งแบบเข้าตี ป้องกัน และลาดตระเวณหาข่าว ซึ่งการฝึกลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลจากกิจการลูกเสือของลอร์ดเบเดน โพเอล ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยการรบแบบที่พระองค์ทรงสนพระทัยอย่างยิ่ง คือ สงครามกองโจรและการซ้อมรบในเวลากลางคืน ซึ่งถือเป็นการรบแบบใหม่ในสมัยนั้น
เสือป่า เป็นชื่อโบราณที่ใช้เรียกทหารที่ใช้สืบข่าวข้าศึก มีหน้าที่เหมือนกองสอดแนม แต่เดิมมีชื่อเต็มว่า เสือป่าแมวมอง หรือเสือป่าแมวเซา ซึ่งความเป็นจริงแล้วเสือป่า และแมวมองนั้นเป็นคนละหน่วย อาจจะมีหน้าที่คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ เสือป่ามีหน้าที่คล้ายสายลับ หรือหน่วยรบพิเศษที่ปฏิบัติการทางลึก หาข่าวข้าศึกในระยะไกล แต่แมวมอง ทำหน้าที่คล้ายยามคอยเหตุ หรือกองระวังด่าน ปฏิบัติงานระยะใกล้ ไม่ไปไกลเหมือนเสือป่า แต่เมื่อรัชกาลที่ 6 สถาปนาหน่วยเสือป่า จึงให้เรียกรวมว่าเสือป่าเพื่อป้องกันการสับสน และทำหน้าที่สืบข่าวข้าศึกทั้งใกล้และไกล สำหรับเหตุผลที่รัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนากองเสือป่าขึ้นมาในสยามประเทศ น่าจะเป็นเพราะต้องการให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นทหารนั้น มีโอกาสและมีหน้าที่ในการป้องกันชาติยามมีศึกศัตรู เพราะในห้วงเวลานั้น ประเทศสยามเป็นชาติเอกราชที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ ท่ามกลางอาณานิคมของมหาอำนาจต่างๆ อีกทั้งยังถือเป็นต้นกำเนิดกองกำลังกึ่งทหาร ที่ทำหน้าที่ช่วยรักษาป้องกันพระราชอาณาเขต โดยไม่ละเมิดสัญญาพระราชไมตรีที่ห้ามมีกำลังทหารประจำการบริเวณชายแดน
ด้วยพระราชประสงค์ดังกล่าวนี้ จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๕๔ เพื่อให้ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนพลเรือน ได้รับการฝึกหัดวิชาอย่างทหาร ยกระดับประชากรให้มีคุณภาพ มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมายชาติบ้านเมือง ปลูกฝังความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารรักษาความสงบทั่วไปในบ้านเมือง และยามศึกสงคราม โดยในการจัดตั้งเสือป่ารุ่นแรกนั้นมีสมาชิกถึง ๑๔๑ คน พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งนายกองใหญ่ ควบคุมกองเสือป่าด้วยพระองค์เอง และต่อมาได้กระทำพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของกองเสือป่า ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
กองเสือป่ามีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังจึงมีการจัดกำลังกองเสือป่าเป็น ๒ กองร้อย คือ กองร้อยที่ ๑ รักษาพระองค์ มีกำลังพล ๒๐๐ คน และกองร้อยที่ ๒ มีกำลังพล ๑๐๐ คน ส่วนสมาชิกที่เหลือจะเป็นสมาชิกสำรองเสือป่า และหลังจากนั้นจึงมีพระบรมราโชบายให้มีกิจการเสือป่าขึ้นตามมณฑลต่างๆทั่วประเทศโดยมีกองบัญชาการตั้งอยู่ที่สโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต และสนามหน้าสโมสรนั้นใช้เป็นที่ฝึกหัดกำลังพลเสือป่า จึงเรียกว่าสนามเสือป่ามาจนทุกวันนี้ กับทั้งได้พระราชทานธงชัยเฉลิมพลใหญ่สำหรับกองเสือป่า พระราชทานนามว่า ธงมหาศารทูรธวัช และเมื่อได้สถาปนากองเสือป่าขึ้นแล้ว อีกเพียงเดือนเศษต่อมาจึงมีพระบรมราชโองการให้จัดตั้งลูกเสือกองแรก (กองลูกเสือหลวง) ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔ เพื่อให้เยาวชนได้รับการฝึกหัดอบรมระเบียบวินัย ความกล้าหาญเสียสละ และภักดีต่อประเทศชาติเช่นเดียวกัน โดยช่วงแรกนั้นช่วงกิจการลูกเสือถือเป็นกิ่งหนึ่งของกิจการเสือป่า
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี ๒๔๖๘ กิจการเสือป่าได้ซบเซาและยุติลงอย่างเงียบๆ โดยไม่เคยมีการประกาศยุบเลิกหน่วยงานอย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏหลักฐานการสิ้นสภาพอย่างสมบูรณ์เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินกองเสือป่าตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เพื่อโอนทรัพย์สินของกองเสือป่าไปอยู่ในความดูแลของคณะลูกเสือแห่งชาติทั้งหมด คงเหลือแต่เพียงกิจการลูกเสือเท่านั้นที่ดำเนินการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
แม้กิจการเสือป่าได้ล้มเลิกไปแล้วก็ตาม แต่แนวคิดการฝึกราษฏรให้เป็นกำลังสำรองเพื่อช่วยทหารป้องกันประเทศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มไว้ ได้ปรากฏต่อมาในกิจการยุวชนทหาร นักศึกษาวิชาทหาร และกองอาสารักษาดินแดน จึงถือได้ว่ากองเสือป่าเป็นรากเหง้าแห่งกิจการรักษาดินแดนของประเทศไทย
รวีโรจน์ สิงห์ลำพอง : เรียบเรียง
สาลินี บุญสมเคราะห์ : ภาพประกอบ
![]() |