หน้าหลัก > ข่าว > เกร็ดความรู้ > ๒๗ มกราคม ๒๕๐๖ วันสิ้นพระชนม์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา
๒๗ มกราคม ๒๕๐๖ วันสิ้นพระชนม์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2022-02-14 11:24:55

วันนี้ในอดีต – ๒๗ มกราคม ๒๕๐๖ วันสิ้นพระชนม์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา

      พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาอ่อน (บุนนาค) ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นพระขนิษฐาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ตำหนักเป็นอาคารทรงยุโรป ๒ ชั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์และพระญาติเจ้าจอมก๊กออ
    ในขณะทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารี ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาไทยชั้นต้นกับพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร) ต่อมาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ทรงขอครูจากโรงเรียนสุนันทาลัย มาถวายสอนภาษาอังกฤษและสอนหัดเต้นรำด้วย ภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล มาสอนถวายแทนครูที่ถึงแก่กรรม
      ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ขณะมีพระชันษาได้ ๑๑ ขวบ ได้ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์ ตามขัตติยราชประเพณีในปีนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลาง มีเจ้านายทรงเข้าโสกันต์พร้อมกัน ๓ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา และพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภารวมอยู่ด้วย ซึ่งล้วนเป็นเจ้านายที่เคยประทับในสวนสุนันทา สมเด็จพระบรมราชชนก พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ส่งจรดพระกรรไกรกรรณบิด ผู้ตัดจุกเป็นเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช เสด็จกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เสด็จกรมพระนเรศวรฤทธิ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
     หลังจากที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ ได้ทรงซื้อที่ดินเพื่อสร้างสวนดุสิตในระยะแรก ทรงโปรดเกล้าให้สร้างพลับพลาชั้นเดียว เป็นที่ประทับชั่วคราวจนแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภาและพระเชษฐภคินีได้ทรงย้ายที่ประทับพร้อมด้วยเจ้าจอมมารดาจากวังหลวงมายังวังสวนดุสิต พระที่นั่งวิมานเมฆ แล้วที่สวนพุดตาน โดยลำดับ ก่อนที่จะเสด็จไปประทับที่สวนสุนันทาในเวลาต่อมา ในระหว่างประทับที่วังสวนดุสิตนั้น พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภาส่งสำราญกับงานรื่นเริงต่าง ๆ เช่น งานขึ้นปีใหม่จะมีการเล่นในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร มีการจับสลากเพื่อแต่งแฟนซีประกวดประชันกันทุกปี มีอยู่ปี ๑ พระองค์ทรงจับสลากถูกให้แต่งเป็นชุดนายทหาร ผู้แต่งแฟนซีทุกคนต้องมีบ่าวแต่งแฟนซีในชุดที่เหมือนกันด้วย พระเจ้าอยู่หัวทรงจับสลากให้ทรงฉลองพระองค์ชุดนายทหารเรือ ส่วนเจ้าจอมก๊กออแต่ละท่าน ก็ถูกแต่งให้เป็นขุนนางเก่าในตำรวจหรือเป็นชาวพม่า โดยมีคณะกรรมการตัดสินให้คะแนนชุดแฟนซีแต่ละชุด นอกจากนี้บรรดาเจ้านายและขุนนางข้าราชการกำลังเห่อเล่นกล้องถ่ายรูปกันตามพระราชนิยมของพระพุทธเจ้าหลวง โดยเริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๔๗ เป็นต้นมา ซึ่งในปีนั้นมีงานรื่นเริงซ้อนกันหลายงานสร้างความสำราญให้แก่เจ้านายทุกพระองค์ เช่น งานขึ้นปีใหม่ เสด็จประพาสต้น งานออกร้านประจำปีในวัดเบญจมบพิตร ในหลวงทรงโปรดเกล้าให้เปิดเป็นร้านถ่ายรูป ถ่ายให้ตามที่ร้องขอส่งเจ้านายมาช่วยงาน เช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภาและพระเชษฐภคินีทรงทำหน้าที่ล้างอัดรูป นอกจากนี้พระองค์ยังได้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวด ชื่อภาพ สวนสวรรค์ ปรากฏว่าทรงได้รับรางวัลเหรียญทองแดง เป็นที่ปลื้มปิติมาก
     พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภาเป็นพระราชธิดาที่โปรดปรานมากพระองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้าหลวง ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งโสกันต์ สมเด็จพระบรมราชชนกต้องจัดให้เป็นกรณีพิเศษ หรือเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรป ทรงได้รับพระราชทานสร้อยพระกร มีพระปรมาภิไธยประดับเพชรพระธำมรงค์ ๑ วงและหีบหมากเสวย ๑ ใบ นอกจากนี้ภายหลังเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน บรรดาพระเจ้าลูกเธอไม่ค่อยมีโอกาสเข้าเฝ้าเสวยเพราะโปรดประทับเสวยข้างบน แต่ที่เปิดให้เข้าเฝ้าประจำเป็นบางพระองค์นั้น เช่น ทูลกระหม่อมหญิงสุธาทิพย์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภาฯ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีฯ พระองค์เจ้าอรประพันธ์ฯ และพระองค์เจ้าอดิศัยฯ รวมอยู่ด้วย
     ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้ทำพิธีกวนข้าวทิพยปายาส ๓ กระทะ ทรงเกณฑ์พระราชธิดาที่โปรดเป็นพิเศษจำนวน ๖ พระองค์ ทรงทำหน้าที่กวนข้าวทิพย์ต้องฉลองพระองค์สีขาว ทรงสะพักแพรขาว ประกอบด้วย ทูลกระหม่อมหญิงสุทธาทิพย์ฯ คู่กับทูลกระหม่อมหญิงวไลยฯ ๑ กระทะ สมเด็จฯเจ้าฟ้ามาลินีฯ คู่กับ สมเด็จฯเจ้าฟ้านิภาฯ ๑ กระทะ และพระองค์เจ้าอรประพันธ์ฯ คู่กับพระองค์เจ้าอดิศัยฯ ๑ กระทะ นอกจากนี้ในตอนปลายรัชกาลได้ตามเสด็จพระบรมราชชนกประพาสเมืองเพชรบุรีหลายครั้ง เนื่องจากมีพระราชดำริจะสร้างพระที่นั่งศรเพชรปราสาทที่ตำบลบ้านปืน และในที่สุดก็ได้ทรงก่อฐานรากสําเร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๒ ตอนปลายรัชกาล
     หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรค ตพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา พระเชษฐภคินีและเจ้าจอมมารดายังคงประทับและพำนักที่สวนพุดตานในวังสวนดุสิต ตราบจนกระทั่งการก่อสร้างพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ ในสวนสุนันทาได้สร้างแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๔๖๒ หลังจากนั้นไปส่งย้ายมาประทับที่สวนสุนันทาในตำหนักเดียวกัน มีลักษณะเป็นตำหนักแฝด มีทางเดินเชื่อมถึงกันทั้งสองตำหนัก ส่วนเจ้าจอมมารดาได้พำนักอยู่ใกล้ ๆ แยกเรือนต่างหาก ตราบจนกระทั่งก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช ๒๔๗๕ ในขณะที่ทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสชายหาดชะอำ เมื่อทรงทราบว่าได้เกิดปฏิวัติจนเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงตัดสินพระทัยไม่เสด็จกลับไปสวนสุนันทาอีกเลย และต่อมาได้เสด็จประทับ ณ วังสวนปาริจฉัตก์ที่สวนนอก บริเวณถนนพิชัย ซึ่งเป็นที่ดินได้รับพระราชทานจากพระบรมราชชนก และได้ประทับต่อมาตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ส่วนตำหนักเดิมที่เคยประทับในสวนสุนันทา ปัจจุบันได้รื้อไปแล้ว
     ในบั้นปลายพระชนมชีพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา ทรงแวดล้อมไปด้วย พระญาติในสกุลบุนนาค และข้างหลวงคนสนิท ทรงดำเนินพระจริยวัตรเรียบง่าย แต่สมพระเกียรติแห่ง ขัติยนารีทุกประการ นอกจากนี้ยังเคยเสด็จต่างประเทศพร้อมกับเจ้าจอมมารดาอ่อน อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ปีนัง และสุมาตรา กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ พบว่าทรงเป็นมะเร็งตับ และได้เข้ารับถวายการรักษา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ พระชันษา ๗๔ ปี