หน้าหลัก > ประกาศ > พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ > “บันทึกกาลเวลา ดอกไม้ในภาพเขียนสีน้ำ”
“บันทึกกาลเวลา ดอกไม้ในภาพเขียนสีน้ำ”

ผู้ดูแลเว็บ สำนักศิลปวัฒนธรรม
2021-05-10 15:15:03

นิทรรศการศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ 

บันทึกกาลเวลา ดอกไม้ในภาพเขียนสีน้ำ” 

.............................................................

ความหลากหลายของพันธุ์ไม้ในตำหนักพระวิมาดาเธอฯ

          อาณาบริเวณตำหนักพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ในสวนสุนันทาเต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ดังที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร เจ้านายในอุปถัมภ์พระวิมาดาเธอฯ ได้บรรยายถึงความความสนพระทัยด้านการปลูกต้นไม้ ไว้ความว่า

...ท่านย่า (พระวิมาดาเธอฯ) ทรงเล่น ต้นไม้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ใบ หรือไม้ผล ที่ตำหนักนั้นมีทั้งกุหลาบหลายร้อยต้น โรงกล้วยไม้ขนาดใหญ่ มีกล้วยไม้นับจำนวนพัน ตรงพื้นล่างรองจากต้นกล้วยไม้จะเป็นต้นหน้าวัว ซึ่งออกดอกทั้งปี...

ในช่วงเวลานี้เองที่สวนสุนันทากลายเป็นสวนสวรรค์ดังชื่อว่า โดยเฉพาะไม้ดอกที่บานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมหมุนเวียนตลอดทั้งปี ดังที่ หม่อมราชวงศ์พาสน์พูลศรี (ชมภูนุช) กฤษณจันทร์ ข้าหลวงในพระวิมาดาเธอฯ ได้บรรยายถึงความหลากหลายของพันธุ์ไม้ในสวนสุนันทาไว้อย่างน่าสนใจ

...ภายในวังสุนันทาจึงมีดอกไม้และต้นไม้ทุกชนิดที่มีในเมืองไทย ทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์ฝรั่ง โดยทรงซื้อเองบ้าง มีผู้นำมาถวายบ้าง...ถ้าพูดถึงชนิดที่ดีและหายากขณะนี้ก็คงจะเป็นสารภีดอกใหญ่ พุทธชาดสีเหลือง ดอกแจ๊สมิน เขี้ยวกระแต จำปา จำปี จำปูน จำปีแขก ลำดวน ยี่หุบ มณฑา รสสุคนธ์ เสาวคนธ์ เรียกว่าดอกไม้ในวรรณคดี ทรงมีทุกชนิดไม่ขาด ต้นพุทธชาด ปลูกอยู่รอบสนามใหญ่เวลานี้ ใช้เก็บร้อยมาลัยทรงบูชาได้ตลอดปี ดอกลดาวัลย์จะบานในฤดูหนาว...ดอกลำดวนดอกใหญ่ใช้กรองใส่จุกทั้งหอม ทั้งสวย ดอกโศก บางทีใช้ดอกแกงส้มทานได้ ชงโค โยธกา อังสดา หิรัญญิกา พวงชมพู พวงคราม พวงแสด ที่พันโซ่อยู่ทางสนามในสุด ซึ่งมีต้นยี่เข่งสีต่าง ๆ บานแข่งกันอยู่ ทั้งสีขาว สีชมพู และสีม่วง ดอกไม้ฝรั่งที่ออกหน้าออกตาอยู่เวลานั้น คือ ไฮแดรนเยีย เวลาบานเป็นช่อใหญ่สีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีฟ้า สีขาว ในช่อเดียวกัน ฤดูมีดอกมาก ๆ จะนำมาตั้งไว้ข้างตำหนัก แคฝรั่ง กริสซิเคย ต้นสูง จะปลูกไม้ริมเขา ทั้งมะม่วงชวาปลูกเป็นระยะ ตามริมสนามใหญ่บ้าง

ภาพ : เจ้านายฝ่ายในเสด็จลงเรือนกล้วยไม้ พระราชวังดุสิต

ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ข้อมูล/ภาพ/ออกแบบ  : ชนะภพ วัณณโอฬาร